พัฒนาผู้นำให้เป็นเลิศ

ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การแข่งขันทางธุรกิจมีมากขึ้น ความสำเร็จของกิจการไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทุน สินค้า หรือเทคโนโลยีอีกต่อไป

คุณภาพของผู้นำที่องค์กรมีต่างหาก เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความแตกต่าง

Zenger Folkman สถาบันที่ทำงานด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่ในระดับโลก ได้ทำการศึกษาวิจัยและชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะผู้นำ 3 ประการ

  1. ภาวะผู้นำ (Leadership) คือความสามารถในการทำให้ผู้อื่นทำตาม (Ability to Influence Others) ดังนั้นภาวะผู้นำจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่มีลูกน้องเท่านั้น ใครก็ตามที่สามารถทำให้ผู้อื่นทำตามได้ เขามีความเป็นผู้นำอยู่ในตัว ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็กๆ ที่ว่ิงเล่นกันอยู่ หากสังเกตุดูให้ดีจะพบว่าเด็กบางคนสามารถนำเด็กคนอื่นๆ ได้มากกว่าเด็กบางคน โดยไม่เกี่ยวกับเพศอะไร อายุเท่าไร และไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ด้วย
  2. การเป็นผู้นำที่ดี (Good Leaders) ไม่เท่ากับการเป็นผู้นำที่เป็นเลิศ (Great Leaders) ในอดีตเรามักแบ่งผู้นำออกเป็น 2 แบบคือผู้นำที่ดีและผู้นำที่ไม่ดี แต่ในยุคปัจจุบันความเป็นผู้นำที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ผู้นำที่เป็นเลิศจำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 16 ประการที่ผู้นำธรรมดาไม่มี (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก The 16 Differentiating Competencies by Zenger Folkman)
  3. ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ลองนึกถึงผู้นำเก่งๆ สักคนที่คุณเลื่อมใสศรัทธาและอยากทำงานด้วย เขามีข้อเสียไหม ? ในโลกของความเป็นจริง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ คนที่เป็นเลิศและประสบความสำเร็จในระดับโลก เก่งเพียงแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้น แต่เรื่องที่เก่ง เขาเก่งขั่นเทพเลยทีเดียว

ดูสตีฟ จ๊อบส์ เป็นตัวอย่าง ถ้าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติและชีวิตตของจ๊อบส์ จะพบว่าเขาเป็นคนที่มีข้อเสียมากมาย แต่ที่จ๊อบส์ประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เป็นเพราะเขาสมบูรณ์แบบ แต่เป็นเพราะความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการนำเสนอเท่านั้น

ดังนั้นวิธีที่จะประสบความสำเร็จ จึงไม่ใช่การพยายามปิดจุดอ่อนทั้งหมดที่มี แต่คือการสร้างจุดแข็งให้แกร่งขึ้น ต่างหาก

ผลการวิจัยของ Zenger Folkman ยังพบอีกว่าผู้นำที่มีความเก่งขั้นเทพ (Profound Strength) เพียงแค่เรื่องเดียว จะอยู่ในระดับท๊อป 40% ของผู้นำที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก หากมีความเก่งขั้นเทพ 2 เรื่อง จะอยู่ในระดับท๊อป 30% และหากเก่ง 3 เรื่องจะอยู่ในระดับท๊อป 20% ของโลกเลยทีเดียว

ฟังดูแล้วพอมีความหวังเพิ่มขึ้นบ้าง ใช่ไหมครับ …

ลองมองผู้ที่ประสบความสำเร็จทุกคนบนโลกใบนี้ดูซิ ไม่มีใครเก่งไปเสียทุกเรื่องสักคน แต่หัวใจสำคัญคือต้องรู้ว่าตัวเองเก่งเรื่องอะไรและไม่เก่งเรื่องอะไร 

แลร์รี่ เพจ กับ เซอร์เกย์ บริน สองหนุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เริ่มก่อตั้งกูเกิ้ลสมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้วยกัน

ทั้งสองคนรู้ว่าตนเองเก่งเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการบริหารจัดการด้านไอที แต่ไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจเลย ดังนั้นตอนก่อตั้งบริษัทจึงไปเชิญ เอริก ชมิตต์ (Eric Schmidt) อดีตผู้บริหารระดับสูงของ Sun Microsystems ผู้มากด้วยความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารองค์กร มาเป็น CEO แทน โดยพวกเขาขอทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาระบบและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยระบุว่าการพัฒนาจุดแข็งจะกระทำได้ ก็ต่อเมื่อผู้นำคนนั้นไม่มีข้อบกพร่องร้ายแรงที่เรียกว่าจุดตาย (Fatal Flaw) เลย โดย Zenger Folkman ได้แยกความแตกต่างระหว่างจุดอ่อนกับจุดตาย ออกจากกัน

จุดอ่อนคือทำสิ่งนั้นๆ ได้ไม่ค่อยดี แต่ไม่มีผลกระทบร้ายแรงต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น วิศวกรที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร อาจมีจุดอ่อนเรื่องการเข้าสังคมกับผู้อื่น แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับงานที่รับผิดชอบอยู่ เป็นต้น

ในขณะที่จุดตาย คือข้อบกพร่องร้ายแรง ที่เป็นอุปสรรคกับการทำงานทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เช่น ผู้นำองค์กรที่มีจุดตายในเรื่องอารมณ์ที่ฉุนเฉียวรุนแรงและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนในการพัฒนา Zenger Folkman แนะนำให้ซ่อมจุดตายก่อนเป็นอันดับแรกเพราะจุดตาย มีผลต่อความสำเร็จและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน คล้ายกับการสอบในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หากได้เกรด F ต้องแก้ F ก่อนเป็นอันดับแรก มิเช่นนั้นจะเรียนไม่จบ

แต่หากไม่มีจุดตาย ให้มองข้ามจุดอ่อนแล้วมาหาทางขยายจุดแข็งที่มี ให้แกร่งขึ้น

แนวทางการพัฒนาจุดแข็งของเขาก็น่าสนใจ ข้อแนะนำคือหากจุดแข็งนั้นยังไม่โดดเด่นมากนัก ให้ใช้วิธีการพัฒนาแบบเส้นตรง (Linear Development) แปลว่าต้องการเสริมเรื่องใดให้ศึกษาเรื่องนั้น เช่น ผู้บริหารที่มีจุดแข็งด้านการคิดวิเคราะห์และอยากเพิ่มเติมทักษะด้านนี้ให้มากขึ้น ก็ควรศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Analytical Skill) เป็นต้น

แต่หากต้องการพัฒนาจุดแข็งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ให้โดดเด่นจนกลายมาเป็นจุดแกร่ง (Profound Strength) การพัฒนาแบบเส้นตรงเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอเสียแล้ว ต้องใช้วิธีการพัฒนาและฝึกฝนที่หลากหลาย (Cross Training) คล้ายๆ นักกีฬา ที่เวลาซ้อม ไม่ได้ฝึกเฉพาะกีฬาที่ตนเองเล่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำอย่างอื่นประกอบไปด้วย เช่นนักกีฬาวอลเลย์บอล ต้องฝึกว่ายน้ำ ฝึกยกน้ำหนัก และฝึกวิ่ง ควบคู่กันไป ไม่ใช่ฝึกฝนเพียงแค่การเล่นวอลเลย์บอลเพียงอย่างเดียว

วิธีการฝึกฝนที่หลากหลายนี้ ภาษาการพัฒนาภาวะผู้นำของ Zenger Folkman เรียกว่า การพัฒนาแบบไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear Development) ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยประกอบเพื่อกำหนดว่าทักษะใดต้องพึ่งพาทักษะใดเพื่อเติม เพื่อจะปรับจากแค่ทำได้ดี (Good) ให้มาเป็น ทำได้อย่างเป็นเลิศ (Great)

ทุกวันนี้เราต้องการผู้นำที่เป็นเลิศ (Great Leaders) มานำพาและบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิตอล

การพัฒนาผู้นำให้แข็งแกร่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอันดับต้นๆ ของทุกองค์กร

Ready to start your Leadership Journey?