พนักงานเกรด A

ที่ผ่านมาผมสอนทักษะการบริหารคนให้กับหัวหน้างานและผู้บริหารจำนวนมาก สัจธรรมหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ ผู้นำไม่มีทางประสบความสำเร็จ หากขาดผู้ตามที่ดี

 

ในบริบทการทำงาน ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเป็นผู้นำ มีลูกทีมค่อยติดสอยห้อยตาม แต่ทุกคนต้องทำหน้าที่ผู้ตาม เพราะไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ตำแหน่งสูงแค่ไหน ต่างก็มี เจ้านาย เสมอ

 

ดังนั้นการทำหน้าที่ผู้ตามให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องเรียนรู้เคล็ดลับในการเป็นพนักงานเกรดเอ 10 ประการดังต่อไปนี้

 

  1. รู้จักแยกแยะระหว่าง สิทธิ กับ หน้าที่ – พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น จึงควรใช้สิทธิ์นี้ให้เต็มที่ ไม่ใช่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ออกความเห็นอะไรเลย ในขณะเดียวกันพนักงานทุกคนก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติของที่ประชุมหรือนโยบายขององค์กร แม้ไม่เห็นด้วยหรือแนวทางนั้นอาจไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นที่เสนอไป ก็ตาม
  2. จ้าง 500 ทำ 5000 – ทำงานให้เกินความคาดหวัง ทำให้มากกว่าหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน Job Description … คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ มักคิดว่า “ได้เงินแค่ไหน ก็ทำแค่นั้น ทำมาก ๆ ก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม ทำไปทำไม” ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จคิดตรงกันข้าม
  3. ทำตัวให้เด่นและเป็นคนดี – โบราณบอก จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย แต่ผมเห็นตรงกันข้าม ผมว่าต้องเด่นและดีไปพร้อม ๆ กัน … คำว่าเด่นแปลว่าโดดเด่น (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Outstanding ซึ่งมาจากคำว่า Standing Out หมายถึงยื่นให้เด่นกว่าคนอื่น) ไม่ใช่หมายถึงการ อวดเด่นหรืออวดเก่ง
  4. หิวกระหายการเรียนรู้ – ทำตัวเป็นคนน้ำไม่เต็มแก้ว สนใจใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ ท่องให้ขึ้นใจ การเรียนไม่มีวันจบ  ที่สำคัญต้องจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนไป จะได้ไม่ต้องถามซ้ำถามซากบ่อย ๆ การลงมือทำและการสอนคนอื่น ก็เป็นอีกแนวทางในการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน จงหมั่นทำอย่างสม่ำเสมอ
  5. ฝากตัวกับพี่เลี้ยง – หาใครสักคนที่มีประสบการณ์มากกว่า อาวุโสกว่า และที่สำคัญเป็นคนที่เราศรัทธายกย่อง ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องทั่ว ๆ ไปในองค์กร เช่นการวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม การวางแผนความก้าวหน้าในชีวิต เป็นต้น
  6. ขันอาสาโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ – หากมีงานใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครรับผิดชอบ รีบอาสาขอช่วยทำ อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องเงินทองหรือสิ่งตอบแทน ให้คิดซะว่าเป็นการสะสมบุญเก่าเอาไว้ใช้ในโอกาสข้างหน้า คนทำงานที่มีอายุงานเท่ากัน ไม่ได้หมายความว่ามีประสบการณ์เท่ากันเสมอไป เช่น คนที่ทำงานมา 5 ปี อาจมีประสบการณ์เท่ากับคนทำงาน 2 ปีก็เป็นไปได้ เพราะอีก 3 ปีที่เหลือทำงานซ้ำ ๆ แบบเดิม ๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ในทางกลับกัน คนที่ทำงาน 3 ปี อาจมีประสบการณ์เท่ากับคนทำงาน 5 ปีก็ได้เช่นกัน เพราะเป็น 3 ปีที่ได้เรียนรู้มากมาย เป็นต้น
  7. รักษาคำพูด – ระมัดระวัง อย่ารับปากซี้ซั้ว เมื่อรับคำแล้วต้องทำให้ได้ตามที่พูดไว้ เช่น บอกว่าพรุ่งนี้จะส่งงาน ก็ต้องส่งตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่ต้องให้ทวงถามหรือติดตามอีก หรือถ้าบอกว่าจะมาเข้าร่วมประชุม ก็ต้องมาตรงเวลา ไม่ควรให้ใครต้องโทรตามอีก เป็นต้น
  8. อย่าพูดให้ร้ายหัวหน้าหรือองค์กร – หน้าต่างมีหู ประตูมีตา อย่าคิดว่า เขาไม่รู้ หากไม่ชอบนายหรือไม่สบอารมณ์กับนโยบายบางอย่างขององค์กร อย่าใช้วิธีการพูดลับหลัง ถ้าอยากพูด ให้หาจังหวะและโอกาสดี ๆ พูดคุยกันตรง ๆ ด้วยเหตุและผล (อย่าลืมนำกฎข้อที่ 1 มาใช้ด้วย) แต่หากคิดว่าไม่พูดดีกว่า ก็ไม่ต้องพูดเลย … ไม่ใช่ถึงเวลาให้พูด ไม่พูด แต่พอลับหลัง เอาไปด่าซะยับ แบบนี้รับรอง ไม่เจริญ !
  9. รักงานที่ทำและทำงานด้วยใจรัก – หากไม่สามารถหางานที่รักทำได้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะรักงานที่ทำอยู่ ถ้าทำทั้ง ๆ ที่ไม่รัก ทำแบบแกนๆ ขอให้ผ่านไปวันๆ รับรองไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นถือคติง่ายๆ ถ้าไม่ได้ทำงานที่รัก ก็ต้องรักงานที่ทำ … แค่นั้น !
  10. กล้าแย้งกล้าปฏิเสธ อย่าทำตัวเป็น Yes Man – การเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน อะไรได้ก็บอกว่าได้ อะไรไม่ได้ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ ไม่ใช่เป็นไม้หลักปักขี้เลน โอนไปเอียงมา ตามกระแสไปเรื่อยเปื่อย การปฏิเสธคนไม่เป็น ถือเป็นจุดอ่อนร้ายแรงที่ต้องเร่งแก้ไข

 

หวังว่าไม่น่ายากเกินไป ลองฝึกฝนดู

Ready to start your Leadership Journey?