'หัวหน้าดี-ไม่ดี' มีผลต่อการเลือกงาน

ควรเลือกทำงานที่ไหนดี ระหว่าง องค์กรดีแต่หัวหน้าไม่ดี กับ องค์กรไม่ดีแต่หัวหน้าดี ?

 

ความเห็นของ อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จํากัด ได้โพสต์ (LINE : โลกบนไลน์ by Apiwut) : ถ้ามีโอกาสได้ทำงานในองค์กรดี ๆ ที่มีชื่อเสียง ประวัติการทำงานก็ดีไปด้วย รายละเอียดใน Resume ก็จะสวยงาม ในขณะเดียวกัน ถ้าได้ทำงานกับหัวหน้าเก่ง ๆ ดี ๆ ก็มีโอกาสเรียนรู้ทั้งวิธีการทำงานและแนวคิด ถ้าได้ทั้งสองอย่างในคราเดียว ก็นับว่าโชคดียิ่งนัก แต่ถ้าเลือกได้อย่างเดียวและต้องเสียอีกอย่างไป ผมเลือกทำงานในองค์กรดี ๆ ด้วยเหตุผล 2-3 ประการ

 

  1. อย่างที่บอก ใน Resume เขียนแค่ว่าเราทำงานอะไร ในองค์กรใด ไม่ได้เขียนว่าเราทำงานกับหัวหน้าคนไหน ชื่ออะไร
  2. ถ้าองค์กรดีจริง แต่หัวหน้าไม่ดี ก็หวังว่าวันหนึ่งองค์กรคงรู้และหาทางปรับเปลี่ยนหรือกำจัดหัวหน้าคนนั้นออกไป
  3. ถ้าองค์กรไม่ดี แม้จะมีหัวหน้าที่ดี ไม่นานเขา/เธอก็คงลาออกไปหาองค์กรดี ๆ อยู่ ถ้าเรายึดติดอยู่กับตัวบุคคล โอกาสจะประสบเคราะห์กรรม ตอนที่เขา/เธอสละเรือ ก็มีสูงมาก

 

ควรเลือกทำงานกับองค์กรเล็ก ๆ ที่ต้องทำทุกอย่าง หรือ ทำงานกับองค์กรใหญ่ ๆ ที่ได้ทำแค่บางอย่าง แบบไหนดีกว่ากัน ?

 

ความเห็น : การทำงานในองค์กรเล็ก ๆ ข้อดีคือ เรียนรู้เร็ว มีความรู้กวางขวางและรอบด้าน เพราะคนมีน้อย ต้องช่วย ๆ กันทำ แต่มีข้อเสียคือ องค์กรเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ ไม่มีระบบในการทำงาน อาศัยความสามารถเฉพาะตัว และความร่วมมือร่วมใจกัน งานและความรู้จึงติดอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่องค์กร ส่วนการทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ก็จะตรงกันข้าม ถ้าต้องเลือกทำงานสักที่ ผมเลือกทำงานกับองค์กรใหญ่ในช่วงแรก ๆ ของชีวิตการทำงาน เพราะ …

 

  1. อยู่องค์กรใหญ่ ได้เรียนรู้ระบบ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรเล็กได้ แต่อยู่องค์กรเล็กจะนำระบบที่มี ไปใช้กับองค์กรใหญ่ น่าจะยาก
  2. เริ่มต้นทำงานในองค์กรใหญ่ แล้วย้ายไปทำองค์กรที่เล็กกว่า ไม่ยาก แต่ถ้าเริ่มต้นจากองค์กรเล็ก แล้วอยากย้ายไปทำงานในองค์กรใหญ่ อาจยากและมีอุปสรรคมากกว่า
  3. ประวัติการทำงาน เป็นเสมือนนามสกุล ทำงานองค์กรใหญ่ ๆ ดี ๆ ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่า ไม่ทำงานแล้ว ก็ยังใช้ประวัติการทำงานที่ผ่านมา หากินอย่างอื่นได้อีก เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการบริษัท เป็นต้น

นอกจากมุมมองและคำแนะนำในการเลือกองค์กรที่หัวหน้าดี และไม่ดีแล้ว “อภิวุฒิ ยังแนะนำหนังสือ Not Doing (แปลเป็นไทยก็ประมาณ “อย่าทำ”) แต่งโดย Diana Renner และ Steven D’Souza

ผู้เขียนแนะนำว่า ชีวิตของคนส่วนใหญ่วุ่นวายและไม่ประสบความสำเร็จเพราะวัน ๆ คิดแต่จะทำอะไรเพิ่มดี เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ยิ่งทำมาก เลยยิ่งไม่สำเร็จ เพราะเกินกำลังและไม่มีโฟกัส

 

หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีการ หยุด ไม่ทำ ปล่อยวาง อยู่เฉย ๆ บ้าง หลาย ๆ วิธี อาทิเช่น …

 

Pause: พักสักแพร๊บ

Create Space: ขออยู่คนเดียวสักระยะ

Presence: อยู่กับปัจจุบัน คอยดูสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป

Silence: อยู่เงียบ ๆ สักพัก

Wait: ฝึกที่จะรอ

Deep Listening: ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ต้องคิดตาม ไม่ต้องตอบโต้

Boredom: หัดอยู่แบบเบื่อ ๆ ไม่ต้องทำอะไรบ้าง

Step Back: ถอยหลังสักก้าว เผื่อจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองใหม่

Let Go: ปล่อยวาง

Unlearn the Doing Instinct: ลบล้างความรู้สึกว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ทิ้งไป

Being There: สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า แม้ว่าเขาจะน่าเบื่อ น่ารำคาญ

Refrain from Reacting: อย่าตอบโต้ หรือ ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอก

Yield to Overcome: รู้จักยอม เพื่อเอาชนะในภายหลัง

Say No: หัดเรียนรู้ที่จะปฏิเสธคนอื่นบ้าง

Less is More: โฟกัสที่จะสร้างความสำเร็จเล็ก ๆ เดี๋ยวมันก็ใหญ่เอง

Follow the Current: ไหลตามน้ำไปบ้าง อย่าสวนกระแสไปเสียทุกเรื่อง

Wandering: ปล่อยกายปล่อยใจให้ล่องลอยไป สักระยะ

Let Things Emerge: อะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด อย่าไปฝืน

Active Surrender: ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น บางทีเราก็ไม่สามารถเอาชนะบางอย่างได้

Stillness within Action: หัดวางเฉย ไม่ต้องโมโห ไม่ต้องแนะนำ ไม่ต้องคาดหวัง

Be Water: ทำตัวให้เป็นเสมือนน้ำ ยืดหยุ่น ปรับตัวเข้าให้ได้กับทุกสถานการณ์

Do Nothing: ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉย

 

ลองเลือกสัก 2-3 ข้อ แล้วทำอย่างสม่ำเสมอ รับรองจะประสบความสำเร็จมากขึ้น ที่ผ่านมา เราอาจจะอยากทำโน่นทำนี่มากเกินไป ยิ่งทำยิ่งวุ่นวาย ขาดโฟกัส ประสิทธิภาพลดลง จนในที่สุดก็หมดแรง (Burn Out)

Ready to start your Leadership Journey?