จะบริหารคนต่างรุ่นต่างเจนอย่างไรให้เข้าใจกัน?
“จะบริหารคนต่างรุ่นต่างเจนอย่างไรให้เข้าใจกัน?”
คำถามนี้สะท้อนความเชื่อเดิมที่ว่า “ความแตกต่างเป็นปัญหา” ทั้งที่จริงแล้ว ช่องว่างระหว่างรุ่นไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่มันคือเรื่องของ “กรอบความคิด” (Mindset) และ “ท่าทีที่เรามีต่อโลกที่เปลี่ยนไป”
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคนต่างเจนในองค์กร หลายคนเชื่อว่าการให้ Feedback และการชื่นชม คือเครื่องมือสำคัญที่สุดในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ แม้การวิจัยล่าสุดของ สลิงชอท กรุ๊ปจะพบว่า คนรุ่นใหม่ต้องการ Feedback รายสัปดาห์ และคำชื่นชมรายวัน เพื่อให้รู้ว่ากำลังเดินมาถูกทาง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนรุ่นก่อนหน้าไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้
ความจริงคือ ทุกเจนล้วนต้องการ “ความใส่ใจ” แต่แค่ใช้ภาษาต่างกันเท่านั้นเอง บางคนอาจเรียกมันว่าการยอมรับ บางคนใช้คำว่าความไว้ใจ และบางคนเรียกมันว่าคำชมเล็กๆ ที่มาจากใจ ไม่ใช่ระบบ
อีกอย่างคือ นิยามของความสำเร็จ รุ่นพี่หลายคนยังคงยึดถือภาพความสำเร็จแบบดั้งเดิม อาทิ การไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงสุด การได้รับรางวัล หรือการสร้างผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ในระยะยาว อย่างเช่นคำที่มักได้ยินว่าเกี่ยวกับการทิ้งมรดกอันมีคุณค่าไว้กับคนรุ่นหลัง (Leave a Legacy)
ในขณะที่รุ่นน้องกลับให้คุณค่ากับความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวัน เช่น การประชุมที่ได้รับฟังอย่างแท้จริง การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน หรือการมีสมดุลชีวิตที่ดี
จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่ต้องการคำชื่นชมทุกวัน เพราะนั่นสอดคล้องกับจังหวะของความสำเร็จที่เขาให้คุณค่า
ถ้าเราเข้าใจมุมมองนี้ เราจะเลิกตีความว่า “เขาอ่อนไหว” หรือ “เรียกร้องมากเกินไป” และเริ่มมองเห็นความตั้งใจ ความกล้า และความละเอียดในมุมที่เราอาจมองข้าม
ความเข้าใจที่เปลี่ยนเกม
องค์กรที่มองเห็นว่า ความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรค แต่คือโอกาสในการร่วมสร้างมักมีลักษณะดังนี้
- มีพื้นที่ปลอดภัยให้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง โดยไม่ติดกรอบตำแหน่งหรืออายุ
- เปิดให้เรียนรู้ข้ามรุ่นในลักษณะสองทาง (Reverse Mentoring) คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ คนรุ่นพี่ได้เรียนรู้ความสดใหม่ของโลก
- วัดผลงานจากผลลัพธ์ ไม่ใช่วิธีการเดียวกันทุกคนเพราะเจเนอเรชันต่างกัน ย่อมมีสูตรสำเร็จต่างกัน
จากความต่าง สู่พลังการสร้างร่วม
การเปลี่ยนจาก “ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเรา” ไปสู่ “เราจะเข้าใจกันให้มากขึ้นได้อย่างไร?” คือกุญแจสู่การเปลี่ยนผ่านองค์กร จากที่เคยมีแต่การอยู่ร่วมให้กลายเป็นการเรียนรู้ร่วม และสร้างอนาคตร่วม
เมื่อผู้นำเปลี่ยนมุมมองจากการบริหารคนต่างรุ่นเป็นการเชื่อมคนต่างกรอบคิดให้เห็นคุณค่ากันและกัน เราจะค้นพบว่าช่องว่างนั้นไม่ใช่จุดอ่อน แต่คือ พื้นที่สำหรับการเติบโตร่วมกัน ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการบริหารทีมข้ามรุ่นมักมี 3 คุณลักษณะร่วมกัน
- ใจกว้างในการฟัง เปิดรับฟังโดยไม่ตัดสินจากรุ่นหรือลักษณะภายนอก
- กล้าให้และกล้ารับ Feedback ทั้งจากผู้บริหารร่วมรุ่นและจากรุ่นน้องในทีม
- มีเป้าหมายร่วม (Shared Purpose) เพราะเป้าหมายที่ใหญ่พอจะทำให้ทุกคนลืมความต่าง และหันหน้าหากัน
และในโลกอนาคตที่ไม่แน่นอน สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ว่าเราจะเข้าใจใคร แต่คือเราจะเข้าใจกันและกันเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันได้อย่างไร