Futures Platform Radar เครื่องมือช่วย “ผู้นำ” รับมือ New Normal

ถึงแม้ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถวางใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ และยังคงต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถเปิดทำการได้เป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กรไม่สามารถนิ่งนอนใจ เพราะผู้นำจำนวนมากมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังโควิด-19

 

 

สลิงชอท กรุ๊ป จึงนำเครื่องมือ “Futures Platform Radar” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelligence) มาช่วยประเมินปรากฏการณ์หลังจากวิกฤตโควิดในแต่ละอุตสาหกรรมออกมาให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ทั้งยังมีการอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันแบบเรียลไทม์ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ ทั้งนั้นเพื่อตอบสนององค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการศึกษา และติดตามแนวโน้ม (trend) ใหม่ ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการลูกค้า และปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับสิ่งปกติใหม่ (new normal) ที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากวิกฤตครั้งนี้ผ่านไป

“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา”

 

“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้อำนวยการบริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับสถาบัน The Futures Platform ประเทศฟินแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์ (futurists) ทำการสำรวจออนไลน์กับซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูง โดยเรดาร์ดังกล่าวมีการแสดงผลทั้งแบบระดับโลก และระดับประเทศไทย

 

สิ่งที่ทำให้ Futures Platform Radar แตกต่างจากเครื่องมือมองเทรนด์อื่น ๆ คือ เครื่องมือทั่วไปมักเป็นแบบการรายงานผลของปรากฏการณ์ใด ๆ เพียงครั้งเดียว ประกอบด้วยข้อความจำนวนมากในการรายงาน และการเชื่อมต่อของทรัพยากรข้อมูลกระจัดกระจาย แต่เครื่องมือของเราเป็นแบบเรียลไทม์ทำการรายงานเทรนด์อยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ เน้นภาพ และวิดีโอ ทั้งยังมีฟีตเจอร์บนจานเรดาร์ให้กดเลือกดูหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความสนใจได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมภายในเครื่องมือเดียว จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่าย และไม่น่าเบื่อ”

 

“ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ผ่านมา ก่อนจะมีการเปิดตัว Futures Platform Radar ทางสลิงชอทได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำจำนวน 55 องค์กรในประเทศไทย แบบถ่ายทอดสดออนไลน์บนเฟซบุ๊ก ในโครงการ “รวมพลัง ผู้นำเข้มแข็ง” ระหว่างช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รัฐบาลประกาศให้ทำการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด และจากการสัมภาษณ์ทำให้พบว่าความท้าทายของผู้นำหลายองค์กรคือกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่อนาคตหลังโควิด-19 ได้”

 

“ผู้คนจำนวนมากมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามผลักดันให้หลายองค์กรนำ Futures Platform Radar มาประกอบในการใช้วางแผน และตัดสินใจในกลยุทธ์ใหม่”

 

“อภิวุฒิ” อธิบายต่อว่า ข้อมูลบนเรดาร์ในส่วนของประเทศไทยมาจากผลการสำรวจออนไลน์กับซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในประเทศไทยกว่า 300 คน เกี่ยวกับแนวโน้มของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 จากนั้นจึงทำการคัดเลือกปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น 30 ปรากฏการณ์ เพื่อให้ซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยโหวตเพื่อเลือก top 10 trends ที่จะส่งผลต่อประเทศไทยมากที่สุด

 

โดย 10 อันดับแรกของปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 มีดังต่อไปนี้

 

  1. teaching & learning 2.0 – รูปแบบการสอน และการเรียนรู้จะเปลี่ยนไป การสอนที่เน้นความจำ และการหาคำตอบที่ถูกต้องจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีจะมีมากขึ้น การเรียนรู้จากเพื่อน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นของจริง จะเข้ามาแทนที่
  2. online stores – การซื้อขายออนไลน์จะเติบโตแบบก้าวกระโดดนับแต่นี้เป็นต้นไป
  3. telepresence – การเจอกันแบบไม่เจอตัวจะมีมากขึ้น ไม่ว่าเรื่องงาน เช่น การประชุมออนไลน์ การพบปะพูดคุยกันออนไลน์ หรือเรื่องส่วนตัว เช่น การหาหมอผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
  4. need for the culture of preparation – ความตื่นตัวในเรื่องของการวางแผนรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง ไม่ว่าจะหยุดลงเป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นเวลาหลายวันก็ตาม เช่น การทำ BCP (busi-ness continuity plan) ที่ช่วยทำให้องค์กรสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเร็วที่สุด โดยจะเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่สำหรับการทำงานในอนาคต
  5. collapse of world economy – หลังวิกฤตครั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกจะเกิดการถดถอยอย่างรุนแรง และอาจนำไปสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของบางประเทศด้วย
  6. industrial revolution 4.0 – เทคโนโลยีอย่างเช่น หุ่นยนต์ (robotics), ปัญญาประดิษฐ์, อินเทอร์เน็ตสำหรับทุกอย่าง (internet of things), เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) และข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เป็นต้น จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อไปสู่ดิจิทัลในยุค 4.0 อย่างแท้จริง
  7.  platform economy – ธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือที่เรียกทับศัพท์ว่าแพลตฟอร์ม (platform) อย่างเช่น Facebook, WhatsApp, LinkedIn, Airbnb, Alibaba, Amazon, eBay เป็นต้น จะเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกหลายเท่า
  8. nature and food as remedies – จากนี้ไปคนจะสนใจ และใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ (wellness) มากยิ่งขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแทนการกินยา และหันไปใช้วิธีธรรมชาติบำบัดกันอย่างแพร่หลาย
  9. retail in brick & mortar stores – การค้าขาย และให้บริการหน้าร้าน (offline) ยังคงมีอยู่ เพราะยังมีลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการซื้อของ ณ สถานที่ขาย เนื่องจากอยากได้บรรยากาศ และประสบการณ์จากการจับจ่ายใช้สอย และการใช้บริการมากกว่าแค่อยากได้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ นอกจากนั้น ช่องทางหน้าร้านยังทำหน้าที่เป็นเสมือนโชว์รูมแสดงสินค้าของการค้าออนไลน์อีกด้วย โดยเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจออนไลน์ และออฟไลน์จะมีน้อยลงมาก เพราะแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าจะเป็นแบบผสมผสานกันมากกว่า
  10. geopolitical impacts – ภูมิศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป อิทธิพลของจีนมีมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปจะอ่อนแอลง โลกจะเกิดการรวมตัวแบบกลุ่มเล็ก ๆ หลาย ๆ กลุ่ม (blocs)ตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และสภาพการเมืองมากกว่าจะแบ่งเป็นขั้วอำนาจแบบตะวันออกและตะวันตก เหมือนอย่างเดิม

“อภิวุฒิ” ยังกล่าวด้วยว่า นอกจาก top 10 trends ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีเทรนด์อื่น ๆ ที่องค์กรไทยต้องให้ความสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ใหม่ โดยเฉพาะแนวโน้มเกี่ยวกับเรื่องการบริหารคนที่กำลังจะเกิดขึ้น

งานใหญ่ ๆ จะถูกซอยออกเป็นงานย่อย ๆ และกระจายไปให้หลายคนทำ ซึ่งคนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานประจำขององค์กร ส่งผลให้งานอิสระ และฟรีแลนซ์จะมีมากขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการค่าตอบแทนแบบใหม่ขององค์กรด้วย

 

“นอกจากนั้น อาจเกิดปรากฏการณ์ alienated young men หรือการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มารวมตัวกันเรียกร้องต่อองค์กรมากขึ้น เพราะผิดหวังในระบบการบริหาร และไม่มีงานทำ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะสร้างครอบครัว ดังนั้น คุณสมบัติของผู้นำยุคหลังโควิดจึงเปลี่ยนไป ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน, มีคุณธรรม และมีความไว้เนื้อเชื่อใจทีมงาน อันเป็น 3 คุณสมบัติสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยง leadership crisis (วิกฤตความเป็นผู้นำ)”

 

ฉะนั้น เทรนด์เหล่านี้คือ new normal ของจริงที่ทุกองค์กรต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ ทั้งนั้นเพื่อนำไปปรับกลยุทธ์ของบริษัทหลังจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ผ่านพ้นไป

Ready to start your Leadership Journey?