First Impression

    Quin Studer ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hardwiring Excellence: Purpose, Worthwhile Work, Making a Difference เล่าถึงกิจกรรมซึ่งโรงพยาบาลของเขาถือปฏิบัติเป็นประจำ เรียกว่า The First 30 Days เขาบอกว่า พนักงานที่เข้ามาใหม่ในองค์กร จะสามารถมองเห็นอะไรๆ ได้ดีกว่าพนักงานซึ่งอยู่มาเป็นสิบปี เปรียบเสมือนแขกผู้มาเยี่ยมบ้าน จะเห็นข้อบกพร่องในบ้านได้ดีกว่าเจ้าของ หรืออย่างน้อยก็สัมผัสถึงบางสิ่งบางอย่างที่ให้ความรู้สึกแปลกๆ  เช่น พนักงานใหม่รู้สึกว่าทำไมไมโครเวฟในห้องครัว จึงอุ่นอาหารได้ช้านัก ไม่เหมือนที่เคยใช้ในบริษัทเก่า นำไปสู่การเปลี่ยนเครื่องใหม่ ทำให้คนสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น แทนการเสียเวลารอเข้าคิวอุ่นอาหาร

   ตรงกันกับเรื่องผู้นำสมอง โดย Dr. David Rock ซึ่งเล่าถึงคนที่กินป๊อปคอร์นเป็นประจำ กลับบอกความแตกต่างของป๊อปคอร์นใหม่และเก่าได้ไม่ดีเท่ากับคนที่นานๆ กินป๊อปคอร์นที บ่งให้รู้ว่าสมองมนุษย์ปรับตัวเองให้เข้ากับความเคยชิน จนสามารถมองข้ามหลายๆ อย่างซึ่งควรมองเห็น       เล่าถึงตรงนี้ ผมเพียงอยากบอกคุณผู้อ่านว่า ผมกลับถึงบ้านแล้วครับ! หลังจาก Leading-Out-of-Thailand ไปถึงหกปีงั้นลองเล่าให้ฟังนิดว่า ความรู้สึกของพนักงานใหม่ซึ่งเพิ่งกลับมาสู่บริษัทชื่อว่าประเทศไทยนั้น ผมสังเกตเห็นอะไรบ้าง

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. คนไทยน่ารัก จะอย่างไรๆ จุดแข็งของคนไทยก็ยังเป็นเรื่องคน รอยยิ้มสยาม Thai Smiles ตั้งแต่ลงจากเครื่อง พนักงานสนามบินทุกคนยิ้มแย้ม (แม้จะเห็นเพียงแค่ตา แต่ก็รับรู้ได้ผ่านหน้ากากอนามัย) กระทั่งเคาน์เตอร์ตรวจหลักฐานวัคซีนโควิด ไปจนถึงการตรวจคนเข้าเมือง มีความเป็น Service Mind อย่างที่ผมไม่ได้สัมผัสมาเป็นเวลาหลายปี  จุดนี้ เป็นเสน่ห์ของเมืองไทยซึ่งแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็เลียนแบบได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหากจะอย่างไร องค์กรไทยควรเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง โลกจะไป ABCD Automation Big Data Clouds Digital อย่างไร ไม่มีหุ่นยนต์ตัวใดจะทดแทนความน่ารักของคนไทยได้ เช้าวันรุ่งขึ้น ผมออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านตั้งแต่ยังไม่เจ็ดโมง เพียงไม่กี่นาทีก็ได้พบเพื่อนบ้านซึ่งไม่ได้เจอกันมาเป็นหลายปี ทั้งที่อาวุโสกว่าและรุ่นราวคราวเดียวกัน ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบเหมือนญาติ เกาะรั้วคุยกันจนแดดร้อนวัฒนธรรมเช่นนี้ ในองค์กรไทยควรรักษาไว้ เราอาจจะไม่ได้เป็นทีมที่เข้าแถวตรงระเบียบเป๊ะแบบญี่ปุ่น หรือประกาศวิสัยทัศน์ติดไว้หน้าโถงแบบอเมริกา แต่ Values ของเราคือการทำงานอย่างเป็นพี่เป็นน้อง ถ้อยทีถ้อยอาศัย และเอาใจเขามาใส่ใจเรา

2.ทุกอย่างดูดีขึ้น จะเรียกมันว่าความรู้สึกส่วนตัวก็ไม่ผิด แต่ผมรู้สึกว่ากรุงเทพมีการพัฒนาไปอย่างเห็นได้ ทั้งรถราที่หันมาใช้ระบบไฟฟ้ามากขึ้นสร้างมลพิษน้อยลง ทั้งต้นไม้ที่ดูเขียวร่มรื่นชุ่มชื้นกว่าที่จำได้ ทั้งร้านอาหารร้านขายของที่มีการปรับตัวพัฒนาจากเพิงมามีศิลปะทั้งทางสายตาและทางรสชาติ มีระบบ Flow บนไฮเวย์ที่ทำให้รถไม่ต้องเสียเวลาเข้าด่าน แม้อาจจะมีติดๆ ขัดๆ บ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาของระบบใหม่  แต่แน่นอน การพัฒนาเหล่านี้ตามมาด้วยราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างน่าสะดุ้ง ทั้งราคาน้ำมัน (เอาล่ะ ตรงนี้เข้าใจได้ว่าผมมาจากประเทศที่ราคาน้ำมัน 15 บาทต่อลิตร) ราคาของในซุปเปอร์มาร์เก็ต อาหารในห้าง ค่าบริการต่างๆ ซึ่งควรทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาวิธีวางแผนการเงินของตัวเองใหม่ คนไทยอาจจะต้องฝึกวิธีการทำงานแบบ Work Smart มากขึ้น สนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดในภาพกว้าง อย่างที่ MIT เรียกว่า System Thinking

3.ขับรถเมืองไทยต้องใช้สติ อันนี้รู้สึกได้เลยว่าการขับรถในเมืองไทยใช้ฝีมือมากกว่าการขับรถเมืองนอกยิ่งนัก เดี๋ยวรถคันนั้นโฉบซ้าย เดี๋ยวมอเตอร์ไซด์คันนี้โฉบขวา ถึงคอสะพานก็ปาดเข้าดื้อๆ รถเลี้ยวขวาจากซอยจู่ๆ ก็ออกมาขวางทางตรง แถมถนนแต่ละเลนก็สร้างมาพอดีคันเหลือเกิน มีเส้นตีแบ่งทั้งใหม่และเก่า หลายครั้งเวลาสวนกันผมต้องกลั้นใจว่าจะพ้นไหมหว่า

   คุณผู้อ่านคงบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนี่ เมืองไทยก็ขับรถแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่หากมองในมุมวัฒนธรรม การขับรถของเราแสดงให้เห็นถึงการขาดความสำคัญด้านวินัย ไม่มีใครอยากรอใคร ทุกคนหาวิธีให้ตัวเองไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด คนทำถูกกฏจราจรถูกเอาเปรียบ คนทำผิดได้ไปก่อนโดยไม่มีบทลงโทษ แล้วเราจะอยู่อย่างนี้ไปได้อีกนานเท่าใด

ดีใจจังครับที่ได้กลับบ้าน!

 

Ready to start your Leadership Journey?