ทักษะที่ฝึกยากที่สุดในโลก "Empathy" แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้!

Empathy เป็นคำที่ถูกหยิบยกมาใช้กันบ่อยในบริบทองค์กร ธุรกิจและการพัฒนาภาวะผู้นำ

 

ในภาษาไทย Empathy ถูกให้คำจำกัดความประมาณ “เข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น” “รู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น” “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” แต่สำหรับดิฉันแล้ว คำ ๆ นี้เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง ยากจะหาคำนิยามคำใดคำหนึ่งในภาษาไทยอธิบายความหมายของ Empathy ได้อย่างสมบูรณ์

Satya Nadella ซีอีโอ ของบริษัท Microsoft ผู้นำที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ Empathy คนหนึ่งของโลก เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า Empathy เป็นมากกว่า Soft Skill และถือทักษะที่ยากที่สุดที่เราจะเรียนรู้ที่สร้างสัมพันธ์กับโลก สร้างสัมพันธ์กับคนที่สำคัญสำหรับเรา

การเลี้ยงดูและสูญเสียลูกชายที่สมองพิการของ Satya เมื่อปีก่อน เป็นเรื่องยากมากสำหรับตัวเขาและภรรยา ตลอด 26 ปีเขาเรียนรู้ว่าความเจ็บปวดทรมานที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับตัวเขา แต่มันเกิดกับตัวลูกชายของเขา ดิฉันเชื่อว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่คงจะผ่านจุดนี้มาเช่นกัน เวลาที่เห็นลูกร้องไห้ตอนถูกฉีดยา หรือเวลาที่ลูกทรมานจากอาการเจ็บป่วย ลูกเจ็บแค่ไหน พ่อแม่ยิ่งเจ็บกว่า ถ้าเลือกได้พ่อแม่ก็อยากจะเจ็บแทนลูก และสำหรับ Satya นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่มีต่อทุกด้านของชีวิต ที่ทำให้เขาได้มองโลกผ่านสายตาของลูกชายและสายตาของผู้อื่น  

การฝึก Empathy ด้วยการสมมติว่าเราเป็นคนอื่นนั้นไม่พอ เช่น การสมมุติว่า “ถ้าเราเป็นเขา เราจะ…” เพราะในความเป็นจริง เราไม่มีทางเป็นเขาได้เลย เราจึงไม่สามารถรู้ได้จริง ๆ ว่าเขารู้สึกอย่างไร และจบลงด้วย “ถ้าเราเป็นเขา เราจะทำในแบบนี้ และแบบนี้ก็คือแบบของเรา ในมาตรฐานของเรา ซึ่งแน่นอนที่สุดมันไม่ใช่ในแบบของเขา

3 วิธีฝึกให้มี Empathy

  1. รู้จักตัวเอง แต่อย่าเอามาตรฐานของเราไปตัดสินคนอื่น เพราะมาตรฐานของคนเราไม่เหมือนกัน สูงหรือเตี้ยอยู่ที่ว่าเราวัดจากมาตรฐานไหน คนสูง 165 คือคนเตี้ย ในสายตาคนสูง 180 คนสูง 165 คือคนสูง ในสายตาคนสูง 150 ฉีดวัคซีน คือเจ็บที่สุดในโลกของเด็กทารก ฉีดวัคซีน คือเจ็บเท่ามดกัดของผู้ใหญ่ พ่อแม่ที่มองโลกผ่านสายตาลูก จะเข้าใจว่าลูกทุกข์ทรมานกับการไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลขนาดไหน แม้สำหรับพ่อแม่ มันคือเจ็บแค่มดกัดก็ตาม ดังนั้น ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ล้วนเป็นผู้นำที่รู้จักตัวเองก่อนว่าเราอยู่ที่จุดไหน แต่ไม่เอาจุดที่ตัวเองอยู่มาเป็นมาตรฐานตัดสินความต่างว่าแบบไหนเรียกเก่งหรือไม่เก่ง แบบไหนคือดีหรือเลว แบบไหนคือฉลาดหรือโง่

  2. เปิดใจรับฟังอย่างจริงใจ ​เชื่อหรือไม่ว่าทักษที่ฝึกยากที่สุดของคนเป็นผู้นำคือทักษะการฟัง เพราะที่ผ่านมาผู้นำได้ถูกให้คุณค่ากับความสามารถในการพูด ชักจูง ชี้นำ อย่างไรก็ดีการศึกษาด้านสมองพบว่าเวลาที่คนพูด เราจะไม่ได้ยิน ยิ่งพูดมาก ก็ยิ่งได้ยินน้อย โอกาสเข้าใจผู้อื่นก็น้อยไปด้วย ดังนั้นในสถานการณ์ที่คุณอยากจะเข้าใจคนอื่น ก็ต้องเตือนตัวเองให้พูดให้น้อย ฟังแบบไม่ตัดสิน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดการเปิดใจรับฟังอย่างจริงใจ จะช่วยให้ผู้คนรอบตัวเกิดความรู้สึกปลอดภัยนำมาซึ่งความไว้วางใจ อันเป็นรากฐานสำคัญของความเป็นทีมและความคิดสร้างสรรค์

  3. หัดมองโลกในมุมอื่นบ้าง เพราะความเชื่อมั่นในความคิดเรา มักทำให้เหตุผลหรือมุมมองของคนอื่นที่แตกต่างจากเราผิดไปเสียทุกอย่าง การพิจารณาสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ และหาทางออกหลากหลายวิธี เมื่อเราเข้าใจว่าเราเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ ช่วยสร้างมุมมองและทัศนคติใหม่ เพราะการคิดให้ไกล มองให้กว้างจะช่วยให้เข้าใจโลก เข้าใจคนอื่นมากขึ้น

 

Ready to start your Leadership Journey?