บทเรียนจากการเลือกตั้ง

ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยมีความฝันอยากเป็นนักการเมืองถึงขนาดไปขอลาออกจากบริษัท บอกกับเจ้านายว่าจะไปทำงานด้านการเมือง หัวหน้านึกว่าเพี้ยน

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว ความสนใจเรื่องการเมืองยังมีอยู่ แต่ความคิดที่จะเล่นการเมือง มอดไปนานแล้ว ตั้งแต่เห็นคนเก่งๆ ดีๆ ค่อยๆ ทะยอยมีอันเป็นไปทุกคนที่ลงเล่นการเมือง

 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ผมติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2 ประการ คือ หนึ่ง หิวกระหายการเลือกตั้งเพราะว่างเว้นมากว่า 7 ปี (ไม่นับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้ง) สอง เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2560 ที่มีกฎกติกาสลับซับซ้อนมากที่สุดฉบับหนึ่ง

 

การเลือกตั้งคราวนี้ มีเรื่องประหลาดมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายอย่าง ชนิดที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูเป็นอนุสรณ์ เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นต้องถือว่าเป็น ที่สุดของที่สุด จริงๆ อย่างเช่น

 

พลิกล๊อคที่สุด คงไม่มีใครเกินพรรคประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยินแบบถล่มทลาย ชนิดที่หลายๆ ฝ่ายเรียกว่าเกือบจะสูญพันธุ์ทางการเมืองเลยทีเดียว เดิมทีประชาธิปัตย์เคยครองแชมป์พรรคที่มีจำนวน สส มากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ แต่คราวนี้ต้องถือว่าหมดรูปจริงๆ ยังดีที่ภาคใต้และปาร์ตี้ลิส ช่วยชีวิตเอาไว้

 

น่าสงสารที่สุด คือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องฮาราคีรีตัวเอง หลังจากนำพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างไม่น่าเชื่อ อันที่จริงท่านเคยลาออกมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทำแค่พอเป็นพิธี ไม่นานก็กลับมาใหม่ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือพรรคยังหาหัวหน้าที่เหมาะสมไม่ได้ แต่คราวนี้คงไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว เพราะศรัทธาและบารมีร่อยหรอลงไปมาก วันที่ประกาศลาออก บางคนอาจเสียใจ แต่หลายคนดีใจ ดูท่านโดดเดี่ยวเดียวดายจริงๆ

 

มาแรงที่สุด คือกระแสความเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆ โดยนักการเมืองกลุ่มเดิมๆ ที่มีให้เห็นอย่างชัดเจน จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ กวาดที่นั่งได้แบบถล่มทลาย ชนิดหักปากกาเซียนทุกค่าย ฉีกโพลของทุกสำนัก หลายคนเลือกพรรคนี้โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้สมัครเป็นใคร ชื่ออะไร ซ้ำร้ายบางคนไม่รู้ด้วยว่านโยบายของพรรคนี้คืออะไร เห็นแค่ว่าหัวหน้าพรรคเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ดูเอาจริงเอาจัง และพูดได้โดนใจหลายเรื่อง แค่นั้นเลย

 

เนื้อหอมที่สุด คือพรรคภูมิใจไทย ของเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ตอนนี้นั่งกระดิกเท้ารอคนมาขอให้ไปร่วมรัฐบาลแบบสบายใจเฉิบ ยิ่งเวลาผ่านไป อำนาจต่อรองของภูมิใจไทยยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ไม่ต้องรีบร้อนอะไร นั่งจิบไวน์ไปพลางๆ รอเทียบเชิญจากทั้ง 2 ฝั่ง แล้วค่อยดูว่าใครเสนอผลประโยชน์ให้มากกว่ากัน ยิ่งนิ่งยิ่งได้เปรียบ เป็นกลยุทธ์การต่อรองขั้นเทพ ใช้วิธีสงบสยบเคลื่อนไหว

 

น่าเป็นห่วงที่สุด คือสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ที่มองดูแล้วความปรองดองไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนแบ่งแยกเป็น 2ฝ่ายอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนทหาร พวกนี้ต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณและเครือข่าย พวกนี้ต้องการเห็นประชาธิปไตยแบบที่ไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง การตั้งรัฐบาลและสรรหานายกรัฐมนตรีไม่น่าจะมีปัญหา คงเดินหน้าไปตามใบสั่ง แต่การบริหารงานของรัฐบาลมีปัญหาแน่นอนไม่ว่าฝ่ายใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพราะคะแนนผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย สูสีกันมาก

 

น่าผิดหวังที่สุด คือการทำรัฐประหารที่ผ่านมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกครั้งที่สูญเปล่าโดยสิ้นเชิง รัฐบาลทหารไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งและการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในสังคมไทยได้เลย อันที่จริงถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คสช และรัฐบาลแทบไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างจริงจังตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองแม้จะดูสงบก็จริง แต่เป็นความสงบบนพื้นผิว ลึกลงไป ความขัดแย้งยังคกรุ่นและรอการปะทุอย่างรุนแรงอยู่

 

เละเทะที่สุด เป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก กกต ที่บริหารงานได้เน่าที่สุด มีปัญหาตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งทั่วไป การนับคะแนน ไปจนถึงการประกาศผล เรียกได้ว่ารักษามาตรฐานความไม่มีประสิทธิภาพได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เสียดายภาษีที่ต้องเอามาจ่ายเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ และการไปดูงานต่างประเทศที่ผลาญเงินไปนับ 10 ล้านบาท โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย ตอนนี้กำลังมีกระแสลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต ระบาดไปทั่วสื่อโซเชียลมีเดีย ตามดูกันต่อไปว่างานนี้จะออกหัวหรือก้อย

 

น่าอับอายที่สุด คือการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากประเทศนิวซีแลนด์กลับมาไม่ทันการนับคะแนนที่เมืองไทย นี่เป็นตัวอย่างของการ ทำงานเสร็จ แต่ไม่สำเร็จ ของหน่วยงานต่างๆ อย่างน้อย 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานฑูตไทยในประเทศนิวซีแลนด์ กระทรวงการต่างประเทศ บริษัทการบินไทย และ กกต ทุกองค์กรต่างออกมาชี้แจงยืดยาวว่า ตนเองทำงานเสร็จตามหน้าที่แล้ว การที่บัตรมาไม่ทัน เป็นปัญหาของคนอื่น โยนเผือกร้อนกันไปมา สะท้อนให้เห็นวิธีคิดและแนวทางการทำงานที่น่าอดสู ฟังแล้วสลดใจ ฝรั่งต่างชาติไม่เข้าใจ แบบนี้ประเทศไทยมี ไทยแลนด์โอนลี่จริงๆ

 

แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลและจะอยู่ได้หรือไม่ อยากให้ปล่อยไปตามวิถีการเรียนรู้และเติบโต (Learning & Growth) ของระบอบประชาธิปไตย ประเทศบอบช้ำมามากพอแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะการจราจลหรือการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เป็นเพราะการล้มกระดานด้านการปกครอง โดยอำนาจนอกระบบ จึงทำให้ระบบประชาธปิไตยของไทย ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด 80 กว่าปีที่ผ่านมา

 

การเมืองจะเป็นอย่างไร ประชาชนต้องเป็นผู้ตัดสินและรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจนั้นร่วมกัน ดูอย่างคนอเมริกาที่เลือกทรั้มป์ คนฝรั่งเศสที่เลือกมาครง คนฟิลิปปินส์ที่เลือกดูแตร์เต คนมาเลเซียที่เลือกนาจิบ ราซัค เป็นต้น ผู้นำเหล่านี้หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง ก็มีปัญหา ประชาชนจำนวนมากไม่ชอบและไม่พอใจ ออกมาประทวงบนท้องถนน บางแห่งรุนแรงถึงขั้นเกิดการจราจลเผาบ้านเผาเมืองไม่ต่างจากบ้านเรา บางคนถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชั่นขั้นรุนแรง แต่เขาก็อดทนและใช้ระบบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา ไม่ใช้วิธีการนอกกติกาอย่างที่เราชอบทำ

 

ประชาธิปไตยต้องเดินหน้าและอาศัยเวลาในการฟูมฟักเพื่อที่จะเติบโตและเข้มแข็ง หากเราไม่มีความอดทนเพียงพอต่อกระบวนการนี้ โอกาสที่ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่แข็งแรง ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

 

อยากเห็นแค่นี้แหละ หวังมากไปรึเปล่าก็ไม่รู้

Ready to start your Leadership Journey?