ทำความรู้จัก ‘Dyslexic’ ทักษะใหม่สำหรับโลกอนาคต

ผู้นำและคนเก่งๆ ระดับโลกเหล่านี้ พวกเขามีอะไรที่เหมือนกัน?

  • Albert Einstein นักฟิสิกส์อัจฉริยะที่มีชื่อเสียงก้องโลก
  • Thomas Edison เจ้าพ่อนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ค้นคว้าหลอดไฟฟ้า
  • Leonardo da Vinci จิตรกรเอกของโลก
  • Wolfgang Amadeus Mozart คีตกวีเพลงคลาสสิกก้องโลก
  • George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา
  • Lee Kuan Yew อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำที่เปลี่ยนสิงค์โปร์ให้เจริญในช่วง 1 อายุคน
  • Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple อัจฉริยะเปลี่ยนโลก
  • Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและหนึ่งในมหาเศรษฐีของโลก

พวกเขาเหล่านี้ล้วนมาจากคน “อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น” และเคยถูกตราหน้าว่าเป็น “เด็กโง่” ภาวะนี้เรียกว่า  “ดิสเล็กเซีย” (Dyslexia) ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รวมถึงดิฉันเองไม่ค่อยรู้จัก Dyslexia จนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับนักจิตวิทยาชาวฮอนแลนด์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้  สิ่งที่น่าตกใจคือ คนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 5 คน เป็น Dyslexia! สำหรับในประเทศไทย พบว่า  เด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกมีมากถึง 4 แสนราย!

Dyslexia ไม่ใช่โรค ดิฉันเองก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ หากท่านใดสงสัยว่าลูกหลานมีภาวะนี้หรือไม่ ควรไปหาข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม แต่ถ้าจะเล่าสู่กันฟังแบบง่าย ๆ ตามความเข้าใจคือ เด็กกลุ่มนี้หากมองเผิน ๆ เขาก็ดูปกติ มีความสามารถด้านอื่นหรือไอคิวเป็นปกติ ใช้ชีวิตได้ปกติ แต่หากตั้งใจสังเกตจะพบความบกพร่องทางการเรียนรู้ภาษา โดยเด็กจะมีความยากลำบากในการอ่านคำได้ถูกต้องแม่นยำ อ่านช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน อ่านตะกุกตะกัก สับสนในการประสมคำ อ่านข้ามคำ อ่านแบบเดาคำ เนื่องจากสมองของคนที่เป็น Dyslexia ทำงานแตกต่างจากคนทั่วไป   

กลับมามองมาตรฐานการศึกษาในสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้​ มันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับคนกลุ่มนี้เลย เด็กพบความท้าทายจากการตัดสินความเก่งด้วยระบบสอบข้อเขียนตามกำหนดเวลา ผู้ปกครองหรือครูที่ไม่เข้าใจมักมองว่าเด็กเป็น “เด็กโง่” “สอนทำเท่าไหร่ก็ไม่จำ”  สุดท้ายเด็กเติบโตมากลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจ เพราะถูกสังคมตัดสินว่าไม่ฉลาดเท่าคนอื่น

จากการสำรวจพนักงานกว่า 1,000 คนที่เป็น Dyslexia พบว่า 3 ใน 4 คน (75%) กล่าวว่าพวกเขาแอบซ่อนความบกพร่องในการอ่านจากนายจ้าง เพราะความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในระบบโรงเรียนตั้งแต่เด็ก  

อย่างไรก็ดี การศึกษาล่าสุดพบว่าคนที่เป็น Dyslexia สามารถมองเห็นรูปแบบที่ผู้อื่นทำไม่ได้ และทักษะของพวกเขาเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับองค์กรและโลกอนาคต  

  • สร้างนวัตกรรมชิ้นใหม่เอี่ยมให้โลก ด้วยทักษะจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ คนกลุ่มนี้จะถนัดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในรูปแบบใหม่ทั้งหมด แน่นอนที่สุด Innovation and Creative Thinking คือทักษะที่วันนี้ทุกองค์กร
  • เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยจุดแข็งด้านการสื่อสารและสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนกลุ่มนี้จะเก่งในการเห็นอกเห็นใจ เจรจาต่อรอง และโน้มน้าวคนด้วยการใช้คำพูด ทักษะเหล่านี้ช่วยสร้างผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สามารถสร้าง สนับสนุน และส่งเสริมคน ทีม และองค์กรที่แข็งแกร่ง
  • เห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น ด้วยทักษะการให้เหตุผล การแสดงภาพ และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คนกลุ่มนี้สามารถประมวลผลภาพใหญ่ มีความสามารถพิเศษในการเชื่อมโยงข้อมูลที่ซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหา พวกเขาเห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น

ล่าสุดในเดือนเมษายน 2022 LinkedIn ได้เพิ่มการคิดแบบ Dyslexic เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับอนาคต ภายในหนึ่งสัปดาห์ มีคนมากกว่า 10,000 คนอัพเดททักษะนี้ลงในโปรไฟล์ LinkedIn ของพวกเขา

ตัวเลข 1 ใน 5 ของประชากรทั่วโลกถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย สำหรับเด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และน่าเสียใจ ถ้าไม่มีใครในสังคมเข้าใจสาเหตุ แม้แต่ผู้ปกครองก็หลีกเลี่ยงการพาไปพบผู้เชี่ยวชาญเพียงเพราะกลัวว่าลูกจะถูกวินิจฉัยว่ามีความบกพร่อง จนช่วยเหลือและสนับสนุนไม่ทัน

หากดูจุดแข็งของพวกเขาที่เป็นทักษะแห่งอนาคตแล้ว ตัวเลขนี้น่าจะเป็น urgency สำหรับผู้ปกครอง วงการศึกษาและองค์กรไทยในการปรับกระบวนการสรรหา สร้างสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้ความแตกต่างอันเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความโดดเด่นในทีมงาน องค์กรและประเทศชาติในอนาคต

Ready to start your Leadership Journey?