ยอดเขาแห่งความโง่

เคยสงสัยไหม ทำไมคนโง่จึงชอบอวดฉลาด … วันนี้มีคำตอบ

 

เมื่อสัก 2 สัปดาห์ก่อน ผมไปประชุมกับลูกค้า ได้คุยกันหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ มีคนถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้ไหมที่ คนมักคิดว่าตัวเองเก่งกว่าความเป็นจริง

 

คำตอบคือ …​ เป็นไปได้ ที่สำคัญมีทฤษฎีและงานวิจัยรองรับความเชื่อเรื่องนี้ด้วย

 

แนวคิดนี้รู้จักกันในชื่อ Dunning-Kruger Effect 

แกนตั้งเป็นระดับความมั่นใจ (Confidence) จากน้อย (Low) ไปหามาก (High)

 

ส่วนแกนนอนเป็นระดับความรู้ เริ่มต้นจากซ้ายมือสุด คือไม่รู้อะไรเลย (Know-Nothing) ขยับไปเป็น รู้และเข้าใจ (Wisdom) จนถึงขวาสุดคือ เป็นผู้รู้จริงและมีความเชี่ยวชาญขั้นเทพ (Guru)

 

กราฟเส้นสีน้ำเงินเริ่มต้นที่มุมล่างด้านซ้ายมือ คือคนที่ไม่รู้อะไรเลย ความมั่นใจก็จะต่ำมากๆ อย่าว่าแต่จะให้พูดหรือแสดงความคิดเห็นเลย แค่ถามยังไม่กล้าเพราะไม่รู้จะถามอะไร แต่พอมีความรู้เพิ่มขึ้นนิดๆ หน่อยๆ คนจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจว่า โอ้ อันที่จริง ไม่เห็นยากอย่างที่คิด จึงเกิดความมั่นใจและเริ่มแสดงภูมิ 

 

ความมั่นใจที่จะอวดรู้นี้ มักพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังอวดฉลาดอยู่ จนไปถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า ยอดเขาแห่งความโง่ (Peak of Mountain Stupid) ณ จุดนี้คือจุดที่ผู้คนรอบด้านเริ่มเอือมระอากับพฤติกรรม โง่อวดฉลาด

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะรู้ตัว และจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองกำลังเดินทางไปสู่ยอดเขาแห่งความโง่อยู่

 

คำตอบคือ ไม่รู้ ! เพราะแต่ละคนใช้เวลาเร็วช้าต่างกันในการตระหนักว่ากำลังอวดฉลาดอยู่ แต่ก็พอสังเกตได้บ้าง จากคำกระแนะกระแหนของผู้คนรอบด้านหรือถ้าเจอคนรู้จริงที่มีเจตนาดี มาช่วยสอนช่วยบอกให้โดยไม่หักหน้า ก็ถือว่าโชคดีไป

 

เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้ ประสบการณ์และวัยวุฒิที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตระหนักว่าอันที่จริงสิ่งที่ตัวเองรู้นั้น น้อยมากเทียบได้เพียงหางอึ่ง จึงทำให้ความมั่นใจที่จะพูดหรือแสดงภูมิ ลดลงโดยปริยาย และค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุดที่เรียกว่า หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง (Valley of Despair)

 

ในระหว่างที่ความมั่นใจกำลังลดลง ใจก็เปิดมากขึ้น จึงรับฟังและเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่ง ความรู้ที่เพิ่มขึ้น ก็ค่อยๆ พลิกฟื้นความมั่นใจให้กลับคืนมาทีละเล็กละน้อย คราวนี้การแสดงความคิดเห็น ก็จะตรึกตรองและใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อน เรียกว่าเก๋าขึ้น ชั่วโมงบินสูงขึ้น จึงสุขุมมากขึ้น

 

พัฒนาการแบบนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้รู้จริง (Guru) ความมั่นใจก็กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากคราวก่อนคือเป็นความมั่นใจที่นอบน้อมถ่อมตน ไม่ได้กร่างเหมือนเมื่อก่อน

 

เหตุการณ์ทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นกับตัวผมเองหลายต่อหลายครั้งในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนตอนเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ไม่มีความรู้อะไรเลย ความมั่นใจก็ไม่มี เป็นเด็กหงิมๆ หงอๆ แต่พอนายมอบหมายให้ทำโครงการใหญ่ที่ต้องประสานงานกับต่างประเทศ ช่วงแรกๆ ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร แต่ด้วยแรงสนับสนุนจากพี่ๆ เพื่อนๆ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี มีคำชมมากมาย ตัวก็เริ่มใหญ่ขึ้น อัตตา (Ego) เริ่มทำงาน เวลาไปไหน คุยกับใคร ก็เที่ยวได้สอนได้บอกเขาว่าให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ คล้ายคนมีประสบการณ์มาหลายสิบปี ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านมาแค่โครงการเดียว

 

สมัยนั้นเพื่อนฝูงหมั่นไส้ แต่ก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า พวกเขาคงอิจฉาที่เรารู้มากและโตเร็วกว่า ไม่รู้หรอกว่ากำลังดำรงตนเป็นคนโง่ที่อวดฉลาดอยู่ เลยทำให้ติดแหง็กอยู่บนยอดเขาแห่งความโง่ซะนาน

 

เมื่อเวลาผ่านไป ได้ทำงานที่ยากขึ้น แล้วไม่ประสบความสำเร็จเหมือนก่อน ก็เริ่มตระหนักว่าตัวเองไม่ได้เก่งกาจอย่างที่คิด อัตตาก็ค่อยๆ เล็กลง จนกลายเป็นคนไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง กว่าจะเอาตัวรอดมาได้ ก็แทบแย่เหมือนกัน

 

ตอนนั้นเสียดายมากที่ยังไม่รู้จัก Dunning-Kruger Effect เลยหลงทางติดกับอยู่นาน วันนี้เห็นคนบางคนที่คิดว่าตัวเองเก่งกว่าความสามารถจริง ก็ได้แต่มองด้วยความสงสาร ถ้าสนินกันหน่อยก็หาโอกาสกระซิบบอก แต่ถ้าไม่สนิทกันก็ไม่รู้จะทำยังไง

 

วันนี้เลยเขียนบทความขึ้นมา คิดว่าจะต่อไปถ้าเจอคนแบบนั้นอีก จะส่งให้เขาอ่าน เพื่อเป็นวิทยาทาน

 

คุณละ อยากส่งให้ใครอ่านต่อไหม ?

Ready to start your Leadership Journey?