การศึกษาและพัฒนาคน ไม่ให้โดนดิสรัปต์

อย่างที่รู้กัน ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก … Disruption เกิดขึ้นในทุกๆ อุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจที่ผมทำอยู่ คือ การศึกษาและพัฒนาคน

 

ผมก่อตั้ง บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ร่วมกับเพื่อนๆ และพันธมิตรจากต่างประเทศ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในช่วงแรกๆ เน้นการซื้อเนื้อหาและหลักสูตรต่างๆ มาจากตะวันตก แล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของคนไทย (Localize)

 

สมัยก่อนทำงานง่ายมากครับ อยู่เฉยๆ ทำสินค้าและบริการให้ดี ลูกค้าวิ่งมาหาเอง แต่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ละ … ลูกค้าไม่ได้มองหาสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอีกต่อไป สิ่งที่ลูกค้ามองหาคือ คำตอบหรือทางออก (Solution) ที่มาช่วยแก้ปัญหา (Pain Point) ที่เผชิญอยู่

 

ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ผม กรรมการบริษัท (Board) และผู้บริหาร ใช้เวลาอย่างมากในการพูดคุยถึงทิศทางใหม่ขององค์กร และได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่เรามุ่งมั่นและอยากเห็นมากที่สุด (Passion) คือ การพัฒนาผู้นำคนไทยให้มีทักษะและความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมระดับสากล เพราะเชื่อว่า คนไทยมีลักษณะเฉพาะตัว (Uniqueness) และสามารถประสบความสำเร็จได้ ด้วยแนวทางการเป็นผู้นำแบบไทยๆ ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เฉกเช่นเดียวกันกับที่โลกยอมรับ อาหารไทย นวดไทย และมวยไทย เป็นต้น

 

สิ่งที่อยู่ในใจของพวกเราเสมอ (Positioning) คือ Leadership – Thailand – The World ซึ่งกลายมาเป็น Motto ของบริษัท (เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นผู้นำแบบไทย ให้คนไทยได้รับการยอมรับระดับโลก)

 

คำถามต่อไปคือ จะทำอย่างไร ?

 

คำตอบไม่ยาก ใช้คอนเซ็ปของ Design Thinking มาเป็นแนวทาง เริ่มต้นด้วยการ ทำความเข้าใจจุดเจ็บ (Pain Points) หรือปัญหาของลูกค้าก่อน

 

จากประสบการณ์ผนวกกับข้อมูลการวิจัย พบว่าผู้นำแบบไทยๆ มีปัญหา 6 ประการ

 

  1. คนไทยไม่ค่อยกล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ต่อสู้หรืออธิบายเพื่อยืนยันความคิดของตนเองอย่างชนิดเอาเป็นเอาตาย (เราขาด Assertiveness)
  2. คนไทยสบายๆ ไม่ค่อยมุ่งมั่น ขาดความเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่คนที่กัดไม่ปล่อยกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ พอไม่ได้หรือไปไม่ถึง ก็มักหาคำอธิบายให้ตัวเอง คำว่า “ไม่เป็นไร พยายามใหม่” จึงกลายเป็นคำพูดติดปาก (เราขาด Aggressiveness & Commitment)
  3. คนไทยไม่ค่อยเก่งในการสร้างคน หัวหน้างานและผู้บริหารหลายคนเป็นคนเก่ง แต่ไม่สามารถสร้างลูกทีมให้เก่งเหมือนตัวเองได้ การคัดเลือกคนเพื่อมาแทนตนเอง (Successor) มักไม่ได้เลือกจากความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้จักมักจี่และความสนิทสนม ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญด้วย (เราขาด Leader-building Skill)
  4. คนไทยไม่ค่อยต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากนัก อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว อากาศและสภาพแวดล้อมก็ไม่ได้แตกต่างกันในแต่ละวัน คนไทยไม่เคยต้องเช็คสภาพอากาศก่อนออกจากบ้านเลย เรามีพื้นที่สบาย (Comfort Zone) ของเราเอง คนไทยจึงไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง​ (เราขาด Change Adaptation & Change Leadership)
  5. คนไทยชอบอยู่ในสังคมปิด เราไม่ค่อยชอบสุงสิงกับคนอื่นที่เราไม่คุ้นเคย ดูตัวอย่างง่ายๆ เวลาไปสัมมนา เรามักเลือกนั่งกับคนที่คุ้นเคย มาจากบริษัทเดียวกัน หรือรู้จักกันมาก่อน หากไปประชุมต่างประเทศ คนไทยก็จะนั่งกับคนไทยด้วยกัน เราเกาะกลุ่มกันเอง จริงอยู่ เราไม่รังเกียจหากต่างชาติจะมานั่งด้วย แต่คนไทยจะไม่เดินผ่านโต๊ะคนไทยด้วยกัน ไปนั่งกับต่างชาติเป็นอันขาด (เราขาด Diversity Appreciation)
  6. คนไทยไม่ค่อยมองอะไรไกลๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรม เรามักคิดถึงอนาคตสัก 3 ปี 5 ปี นี่ก็ถือว่าไกลมากแล้ว หากไปถามใครสักคนว่า เป้าหมายในชีวิตอีก 50 ปีจากนี้ไปคืออะไร คงถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทย ไม่เคยมีเป้าหมายระยะยาว แบบ 30 ปี 50 ปี กับเขาเลย (เราขาด Long-range Vision)

 

เมื่อเข้าใจปัญหา (Empathize) แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องคิดหาทางออก (Ideate) ตามหลักการของ Design Thinking

Ready to start your Leadership Journey?