วิธีก้าวข้าม ‘หายนะ’ แห่ง ‘ภาวะผู้นำ’

จำไว้เป็นบทเรียน (อีกแล้ว) นะครับ สำหรับกรณีของท่านปลัดคนเก่ง แห่งกระทรวงคลองหลอด ส่งท้ายปีขาล คล้อยหลังไม่กี่วัน หลังจากออกมาด่าลูกน้องด้วยสไตล์คนชนบท (แกว่ายังงั้น) จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง

ในที่สุดก็ต้องออกมาโพสต์ขอโทษกับพฤติกรรมของตัวเองที่ไม่ทันยั้งคิด และใช้ถ้อยคำรุนแรง รวมถึงยังบอกตัวเองว่า “ผมจะต้องเลิกการด่าลูกน้องด้วยคำพูดที่สังคมกำลังตำหนิผม”

จริง ๆ ถ้าเลิกด่าลูกน้องด้วยถ้อยคำที่รุนแรงก่อนหน้านี้ หายนะด้านภาวะผู้นำคงไม่เกิดขึ้น  เพราะมีคำเตือนจากภรรยาและผู้ใหญ่หลายต่อหลายครั้งแล้ว

สิ่งที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้นำที่ดีหรือแย่ คือพฤติกรรมที่แสดงออก ไม่ใช่สถาบันการศึกษา ไม่ใช่วุฒิการศึกษา และไม่ใช่ตำแหน่งที่นั่งทับอยู่ แต่ด้วยความที่ ผู้นำ ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง ย่อมมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เมื่อเราไม่พอใจกับการทำงานของลูกน้องแล้วควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อารมณ์ก็จะไปกำหนดพฤติกรรมของเรา ทำให้เราเลือกที่จะทำตามคำสั่งของอารมณ์

ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ สิ่งที่ควรทำคืออะไร ? สตีเฟน อาร์ โควีย์ กูรูด้านภาวะผู้นำ บอกว่า จริง ๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติพิเศษ 4 อย่าง (The Four Unique Human Gifts) แต่บางคนอาจไม่เคยรู้และไม่เคยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต

ดังนั้นถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จงทำ 4 อย่างนี้

  1. จงรู้เท่าทันตัวเอง (Self-Awareness) เมื่อกำลังโกรธก็รู้ว่าโกรธ รู้จักตั้งคำถามกับตัวเอง โดยมองตัวเองเป็นหลักว่า เรานั้นมีตัวตนอย่างไร มีความคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร และให้คุณค่ากับสิ่งใด
  2. จินตนาการถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น (Imagination) เมื่อเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองแล้ว ให้จินตนาการต่อไปว่า พฤติกรรมที่จะแสดงออก จากความโกรธนั้นจะส่งผลอย่างไร เช่น ไม่พอใจที่ลูกน้องทำงานไม่ดี ถ้าเราด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง ผลลัพธ์คือ ลูกน้องจะกลัว ไม่กล้าพูดความจริง ส่วนตัวเราก็จะเสียบุคลิกภาพ กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ
  3. แยกแยะผิดชอบชั่วดี (Conscience) รู้ว่าพฤติกรรมใด เป็นสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ รู้สึกดีที่ทำดี รู้สึกผิดที่ทำไม่ดี แยกแยะได้ว่า การใช้คำหยาบคายในที่ประชุม และการตั้งคำถามดูถูกคนอื่น เป็นสิ่งไม่ดี แต่การพูดด้วยเหตุผลโดยปราศจากอารมณ์เป็นสิ่งที่ดีกว่า จิตสำนึกของมนุษย์เปรียบเสมือนกลไกควบคุมให้มนุษย์รู้สึกผิดชอบชั่วดี และเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน
  4. เลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น (Independent Will)โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์หรือแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ถ้าเราทำข้อ 1 ถึง ข้อ 3 มาตามลำดับ เราก็จะทำข้อสุดท้ายนี้ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองที่ตระหนักรู้ว่า ตนเองควรเลือกแสดงพฤติกรรมอย่างไรจึงจะเหมาะสม และได้รับการยอมรับจากลูกน้องและคนรอบข้าง

ดังนั้น ถ้าอยากก้าวข้าม ‘หายนะ’ แห่ง ‘ภาวะผู้นำ’ ลองเอาหลักการ 4 ข้อนี้ไปฝึกใช้ให้คล่องนะครับ

 

ดร.จักรพันธ์ จันทรัศมี

Consulting Partner

Slingshot Group

Ready to start your Leadership Journey?