มาทำความรู้จักกับ Cusper เจนเนอเรชั่นที่ถูกลืม

 เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันไปดูคอนเสิร์ตใหญ่ของพี่เบิร์ด ธงไชย ระหว่างต่อแถวเข้าชมคอนเสิร์ตสังเกตเห็นแฟนคลับมีตั้งแต่เด็กน้อยจนไปถึงรุ่นใหญ่ที่นั่งวีลแชร์มาชมคอนเสิร์ตกัน ช่วงที่พี่เบิร์ดหยิบเอาเพลงไทยเก่า ๆ มาร้อง แฟนคลับรุ่นใหญ่ก็ร้องคลอตามตาเป็นประกาย พอพี่เบิร์ดปล่อยเมดเล่ย์ยุค 90 อย่างรุ่นเราออกมา พวกเราก็ร้องตามกันสุดฤทธิ์ สักพักมี BNK  48 ออกมาทั้งวง เท่านั้นแหละ เหล่าแฟนคลับจูเนียร์ต่างกระโดดทั้งร้องทั้งเต้นตามไปด้วย เรียกได้ว่าต่างเจนต่างใจแต่สามารถหลอมความสนุกได้เป็นหนึ่งเดียว

 

โอ้แม่เจ้า…ทั้งร้องทั้งเต้นเกือบ 4 ชั่วโมง นี่หรือคนอายุ 61!

 

นั่งนึกไปนึกมา ถ้าพี่เบิร์ดอยู่องค์กรเรา  แกน่าจะอยู่ในกลุ่มพี่ ๆ ที่เราคงเพิ่งจัดงานเลี้ยงเกษียณอายุไปเมื่อเดือนตุลาที่ผ่านมานี้เอง

 

สถานบัน BridgeWorks ผู้เชี่ยวชาญด้านเจนเนอเรชั่นในสหรัฐอเมริกา แบ่งเจนเนอเรชั่นออกเป็น 5 เจนเนอเรชั่นตามเหตุการณ์หรือเงื่อนไขสำคัญของโลกที่คนแต่ละช่วงอายุเจอ จนส่งผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อความเป็นตัวตนของเราในทุกวันนี้

  1. เจน Traditionalists เกิดก่อนปี พ.ศ. 2489
  2. เจน Baby Boomers เกิดปี พ.ศ. 2489 – 2507
  3. เจน X เกิดปี พ.ศ. 2508 – 2522
  4. เจน Y เกิดปี พ.ศ. 2523 – 2538
  5. เจน Z เกิดปี พ.ศ. 2539 – 2553

 

พี่เบิร์ดของเราจัดอยู่ในกลุ่ม Baby Boomers นั่นเอง

 

ช้าก่อน! ในความเป็นจริงนอกจากเจนเนอเรชั่นที่เราเข้าใจว่ามี 5 เจนเนอเรชั่นนี้แล้ว ยังมีอีกเจนหนึ่งที่ถูกลืม นั่นคือเจนที่เรียกว่า Cusper

 

บริษัท BridgeWorks เรียกเจน Cusper ว่าเป็นผีน้อยเพื่อนรัก คนกลุ่มนี้อาจไม่รู้สึกว่าเขาเป็นเจนใดเจนหนึ่ง เพราะพวกเขาเหมือนแซนวิชที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 เจนเนอเรชัน เช่น Cusper เป็นคนที่เกิดระหว่างเจน Baby Boomers และเจน X อาจไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม แต่ยังคงรับรู้ถึงผลกระทบที่ประเทศได้รับจากความบอบช้ำจากสงครามครั้งนั้น Cusper ที่เป็นคนที่เกิดระหว่างเจน X และเจน Y ยังคงเป็นเจนที่จำภาพบ้านของตนเองสมัยก่อนมีไมโครเวฟได้ แต่ก็เติบโตมากับยุคที่มี Email ตั้งแต่มหาวิทยาลัย

 

ข้อดีคือ คนกลุ่มนี้เข้ากับคนได้หลากหลายเจนเนอเรชัjน สำหรับองค์กรแล้ว Cusper มีประโยชน์และมีความสำคัญด้วยเหตุผล 2 ประการ

  1. เป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนแต่ละเจนเนอเรชั่น ช่วยประสานสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ
  2. ลดจุดประทะระหว่างเจนเนอเรชั่น ด้วยจุดเด่นที่มีมุมมองของทั้งสองเจนเนอเรชั่น

 

เช่นหัวหน้าเจน X ที่มีลูกน้องเจน Y  อาจไม่เข้าใจว่าทำไมเจน Y ต้องเสียเวลาประชุมระดมสมองกันหลายชั่วโมงแทนที่จะต่างคนต่างไปคิดมาก่อนแล้วค่อยมาคุยกันในที่ประชุมเพียงชั่วโมงเดียวก็จบ และเรียกลูกน้องเจน  Y มาตักเตือนถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่มุ่งเน้นผลลัพธ์ ลูกน้องเจน Y ก็หงุดหงิดที่หัวหน้าไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ไม่สร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน

 

หากองค์กรสามารถหา Cusper ที่อยู่ระหว่างเจน X กับเจน Y มาเป็นพี่เลี้ยงให้คนทั้งสองรุ่น ก็จะช่วยทำให้เข้าใจวิธีทำงานแบบ Work Life Balance ของคนเจน X ว่ามันต่างกับ Work Life Integration ของเจน Y อย่างไร และมันมีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างไร ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้ง 2 เจนเกิดความเข้าใจ ลดอคติและเปลี่ยนมุมมองในการทำงานร่วมกัน

 

ในยุคที่เรากำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่เริ่มมี 5 เจนเนอเรชั่นทำงานร่วมกันในองค์กร ความท้าทายในการบริหารองค์กรให้ตอบโจทย์คนทุกเจนเนอเรชั่นยิ่งทวีความสำคัญ หากผู้นำเป็นได้อย่าง Cusper ก็จะสามารถคิด ทำความเข้าใจและสร้างนโยบายการบริหารจัดการที่ตอบโจทย์พนักงานในทุก ๆ เจนเนอเรชั่น อีกทั้งยังช่วยดึงจุดเด่นพร้อมเชื่อมโยงประสานพลังคนทุกเจนเนเรชั่นให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

 

ถึงเวลาแล้วที่คุณจะลองมองหาว่าใครคือพี่เบิร์ดในองค์กรคุณ

Ready to start your Leadership Journey?