ทักษะแห่งโลกอนาคต - ทักษะที่ 1 ‘Creative Conceptions’

พอได้ยินคำว่าริเริ่มสร้างสรรค์ หลาย ๆ คนก็คงอยากที่จะเบือนหน้าหนีและคิดในใจว่าทักษะนี้เค้าพูดกันตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ทำไมถึงยังเป็นทักษะสำหรับอนาคตอยู่ แต่จากการศึกษาพบว่า 6 ใน 7 งานวิจัยกล่าวว่าทักษะนี้เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต โดยเฉพาะงานวิจัยของ World Economic Forum ที่กล่าวมาทักษะนี้จะเป็น 1 ใน 3 ทักษะสำคัญในอนาคตเลยทีเดียว เนื่องจากในอนาคตระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สามารถทำงาน Routine แทนเราได้หมดและสามารถประมวลข้อมูลต่าง ๆ แก้สมการที่ซับซ้อนได้ภายในเสี้ยววินาทีจนคนยังสู้ไม่ได้ ดังเช่นข่าวดังในปี 2016 ที่ AI อย่าง ‘อัลฟาโกะ’ (AlphaGo) สามารถล้มแชมป์เซียนหมากล้อม (Go) 9 ดั้ง (เป็นระดับสูงสุดของหมายล้อม) อย่างนายอี เซดอล ไปได้ 3-0 เกม

 

ดังนั้นในอนาคตเราจะไม่ได้แข่งกันด้วยความรวดเร็วในการทำงานหรือการวิเคราะห์ข้อมูลอีกต่อไป แต่เราจะแข่งกันด้วยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้นคำว่า Creative Conceptions จึงหมายถึงความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ ๆ โดยใช้นวัตกรรมและจินตนาการ เพื่อพัฒนาทางเลือกหรือสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งทำให้เราสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตและหลุดพ้นกรอบหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีอยู่

 

เมื่อกล่าวมาถึงขั้นนี้แล้ว เหล่ามนุษย์ผู้ถนัดการใช้สมองด้านซ้ายหรือเชิงตรรกะอาจจะปาดเหงื่อกันระวิงเนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการใช้สมองซีกขวาหรือด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ต้องกังวลไป ขึ้นชื่อว่าทักษะย่อยสามารถที่จะฝึกฝนและพัฒนากันได้ วันนี้เราเลยมีวิธีการพัฒนาเพื่อสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์กันมาฝากกัน 3 วิธี

 

  1. ปรับความคิด คนส่วนใหญ่เวลาปักใจอะไรแล้ว สมองจะพยายามมองหาในสิ่งนั้น ๆ เสมอ อย่างเช่นเวลาที่เราคิดว่าเด็กผู้ชายต้องเตะบอล เราก็มักจะเห็นเด็กผู้ชายเตะบอลอยู่เสมอ เพราะสมองจะคอยบอกให้เรามองหาคนเตะบอลตลอด เช่นเดียวกัน หากเราคิดว่าเราเป็นคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สมองก็จะพยายามไม่คิดอะไรที่แปลกแหวกแนวออกมา แต่หากเรามีความเชื่อว่าเราสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาได้ เราจะเริ่มยอมรับความเสี่ยงและความล้มเหลว พร้อมที่จะคิดและทดลองอะไรใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาแบบหนึ่งคือการสร้างระบบความเชื่อและระบบความคิดที่ดี นอกจากนี้ยังควรฝึกคิดมุมกลับ ลองมองสิ่งที่มีอยู่ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป ซึ่งจะทำให้ได้ความคิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

 

  1. สร้างความรู้สึกสงสัย ความสงสัยเป็นบ่อเกิดของสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นหากมีประเด็นต่าง ๆ ให้เราลองตั้งคำถามหลาย ๆแบบเพื่อถามตัวเองเช่น ฉันจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ทำไมปัญหานี้ถึงเกิดขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น เท่านั้นยังไม่พอให้ลองถามตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ เช่น ทำไมฉันถึงคิดจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ มีวิธีการอื่นที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อีกไหม หรืออาจจะลองถามตัวเองว่า ถ้าฉันเป็นคนอื่น ๆ ฉันจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยตั้งปัญหาถามตัวเองอาจจะต้องใช้วิธี 5 Why คือการถามตัวเองว่า ทำไม ซัก 5 ครั้ง หรือลองสวมหมวกเป็นคนอื่นเพื่อคิดถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ มุมมอง วิธีการนี้จะทำให้เราเป็นคนช่างที่สังเกตและมองรอบด้านมากขึ้น ส่งผลให้ได้วิธีการที่หลายหลายและแปลกใหม่

 

  1. สร้างความหลากหลายในการคิด เวลาที่เราเจอปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ เรามักจะพยายามคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด บางคนอาจจะคิดได้ 1-3 วิธี แต่วิธีการนี้เราจะเน้นไปที่จำนวนไอเดียที่เกิดขึ้น โดยอาจจะไม่ต้องไปคำนึงถึงโอกาสที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้สมองเราเปิดกว้างและมองเห็นทางเลือกใหม่ ๆ มากกว่าเดิม เช่น หากถามว่าเที่ยงนี้เราจะไปกินอะไรดี เราก็คงจะคิดถึงร้านอาหารใกล้ ๆ หรือเมนูที่คุ้นเคย แต่หากเราพยายามคิดอะไรที่หลากหลายมากขึ้น เราอาจจะเจอร้านอาหารใหม่ หรือเมนูใหม่ที่เราเป็นคงรังสรรค์ขึ้นมา ใครจะไปรู้ นั้นอาจจะเป็นเมนูยอดนิยมในอนาคตเลยก็ได้

 

วิธีที่เราเอามาฝากกันนั้น เป็นวิธีการง่าย ๆ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากเราฝึกทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดความคุ้นชินและสร้างสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วแน่นอนค่ะ

Ready to start your Leadership Journey?