Confirmation Bias

เคยได้ยินคำนึ้ไหมครับ ?

 

Confirmation Bias เป็นศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึงการแสวงหา รับฟัง และตีความข้อมูลที่ได้มา เพื่อยืนยันความเชื่อหรือความคิดเดิมที่มีอยู่ ให้ยิ่งเชื่อมากขึ้นและคิดว่าความเชื่อที่ตนเองยึดถืออยู่นั้น ถูกต้องแล้ว เพราะมีข้อมูลเพิ่มเติมมาสนับสนุนและช่วยยืนยัน

 

เมื่อหลายปีก่อน กลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต อ่านงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับจํานวนการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกา 

 

โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งสนับสนุนโทษประหารชีวิตว่าเป็นวิธีป้องกันการฆาตกรรมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิตเพราะเชื่อว่าไม่ได้ช่วยลดจํานวนผู้กระทําความผิดลงได้จริง 

 

หลังจากอ่านงานวิจัยแล้วจึงสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการทดลอง พบว่าผู้ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตเห็นด้วยกับงานวิจัยที่สนับสนุนการประหารชีวิต มากกว่า ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต ก็เห็นด้วยกับงานวิจัยที่ไม่สนับสนุนการประหารชีวิต มากกว่า 

 

โดยคนทั้งสองกลุ่ม ให้เหตุผลว่างานวิจัยที่ตรงกับสิ่งที่ตนคิดนั้นมีคุณภาพและน่าเชื่อถือมากกว่างานวิจัยที่ขัดกับความเชื่อของตนเอง 

 

เมื่อถามผู้เข้าร่วมการทดลองต่อไปว่า ความเห็นต่อโทษประหารชีวิตหลังอ่านงานวิจัยทั้งสองชิ้นแล้ว เปลี่ยนไปหรือไม่ คําตอบที่ได้คือ “ไม่เปลี่ยน” ซ้ำร้ายกว่านั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ตนเองเชื่อตั้งแต่แรกให้ลึกลงไปด้วยซ้ำ

 

ในการทำงานก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น ผู้บริหารเชื่อว่าการจัดอบรมเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีพฤติกรรมหรือผลงานที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นภายหลังการอบรม แต่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำ (Learning by Doing)

 

ดังนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว หลังการอบรมทุกครั้ง ก็จะมองหาพนักงานที่ไม่พัฒนาหรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วนำมายกเป็นตัวอย่างเพื่อตอกย้ำความเชื่อหรือความคิดของตนเอง

 

นับเป็นอคติประเภทหนึ่งที่มีผลทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ที่สำคัญคนที่มีอคติประเภทนี้มักไม่รู้ตัวและไม่เปิดรับฟังข้อมูลอื่นที่ไม่ตรงกับความคิดของตน ทำให้โลกของเขาค่อย ๆ คับแคบลง ยิ่งอยู่นาน ยิ่งน่าสงสาร

 

คำถามคือ จะแก้ไขอย่างไรดี

 

  1. ต้องมีสติ รู้ตัวเองก่อนว่ากำลังมีอคติ อย่าคิดว่าตัวเองไม่เป็น เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีอคติแบบนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องอะไรต่างหาก
  2. ทุกครั้งก่อนตัดสินใจหรือปักหลักเชื่อในความคิดของตนเอง เปิดรับข้อมูลให้รอบด้าน ที่สำคัญต้องสนใจและใส่ใจข้อมูลที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเองให้มากขึ้น
  3. อย่าตั้งคำถามที่ตอกย้ำความเชื่อของตนเอง ตัวอย่างเช่น หากเชื่อว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด การตั้งคำถามว่า โครงการนี้มีผลตอบแทนต่อการลงทุน (ROI) เท่าไร จะทำให้ได้คำตอบมุมเดียวคือผลตอบแทน แต่การลงทุนที่ดี อาจมีมิติอื่น ๆ ที่ควรนำมาพิจารณาด้วย เช่น เหตุผลความจำเป็น ช่วงเวลา เงินลงทุน ประโยชน์ที่ได้รับ ฯลฯ ดังนั้นจึงควรถามคำถามหลาย ๆ ข้อ เช่น เหตุใดจึงต้องลงทุนในโครงการนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับคืออะไร ผลเสียหากไม่ทำคืออะไร มีทางเลือกอื่นอีกไหม เป็นต้น แล้วจึงนำข้อมูลมาประติดประต่อกัน วิธีการนี้จะช่วยลดอคติลงได้บ้าง
  4. หากคุณเป็นหัวหน้า ผู้บริหาร หรือผู้นำครอบครัว ให้ตกลงกับลูกน้อง ลูก ๆ หรือสมาชิกในครอบครัวว่า ไม่ว่าคุณคิด เชื่อ หรือนำเสนอเรื่องอะไร ให้พวกเขาช่วยกันหาเหตุผลมาโต้แย้งหรือคัดค้านความคิดของคุณอย่างน้อยหนึ่งอย่างเสมอ เพื่อจะได้มีมุมมองที่รอบด้าน ก่อนตัดสินใจ

หากทำได้เช่นนี้ อคติแบบที่ว่าก็จะค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง เมื่อเวลาผ่านไป

Ready to start your Leadership Journey?