Comfort Zone ชีวิตสบายๆ ทำไมต้องเดินออกจากมัน

Comfort Zone ชีวิตสบายๆ ทำไมต้องเดินออกจากมัน

 

ในชีวิตเรามักได้ยินคำสอนให้ก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อให้ชีวิตได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ก้าวหน้า เติบโตแต่เอาจริง ลึกๆ ก็แอบคิดว่า Comfort Zone คือพื้นที่ปลอดภัย เมื่อทุกอย่างลงตัว ทั้งงานที่ทำ สังคมที่อยู่ ชีวิตก็สบายดีอยู่แล้ว ทำไมเราต้องเดินออกจากมัน จนวันนี้ได้พบผู้ชายชื่อ เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ คนไทยที่ฝันอยากเห็นประเทศไทยมีของเจ๋ง ผู้ปั้นหุ่นยนต์ไทยไปตลาดโลก ทำให้เข้าใจว่าทำไมถึงได้เวลาแล้วที่พวกเราควรออกจาก Comfort Zone   

การเป็นผู้บุกเบิกนั้นยากเสมอ เปรียยเหมือนเราอยากไปยอดเขา แต่ทางมันช่างไม่ชัดเจน ต้องหาทางไปเอง ซึ่งต้องอาศัยพลังมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์ที่จะปั้นโรบอทไทยให้กระหึ่มในดินแดนญี่ปุ่นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ฟังดูแล้วป็นไปไม่ได้ เพราะเอาจริงๆ ญี่ปุ่นที่เป็นเทพด้านหุ่นยนต์ เขาคงทำเองไปนานแล้ว  เส้นทางธุรกิจที่มีแต่คนห้าม ถูกดูถูกสารพัด แต่เขากลับยิ่งมีแรงขับเคลื่อนจากภายใน ด้วยเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ คือ อยากสร้างให้ชาติไทยเจ๋งกว่าใคร!

“นี่คือชาติเรา คุณค่าเหล่านี้ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ” จากวันนั้น คุณเฉลิมพล ซึ่งไม่ได้เป็นแพทย์ วิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์ ได้รวบรวมคนไทยเจ๋งๆ ทั่วโลกจากวงการแพทย์และวิศวกรร่วมสานฝัน จนวันนี้ “หุ่นยนต์ดินสอ” กลายเป็นหุ่นยนต์บริการตัวแรกของไทยและของภูมิภาคอาเซียน ที่ดังกระหึ่มไปทั่วโลกในฐานะหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุและหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่สามารถดมกลิ่นตรวจโรคมะเร็งแบบที่ไม่เคยมีหุ่นยนต์ตัวไหนในโลกทำได้มาก่อน

 

การลุกออกจาก Comfort Zone ถูกขับเคลื่อนด้วย “ความกล้า 4 อย่าง” 

 

  1. กล้าคิดนอกกรอบ เราเติบโตมาในสังคมที่คิดในกรอบ เปรียบเสมือนอยู่ในสายสิญจน์ ถ้ามีคนมาบอกว่าอย่าออกไปเดี๋ยวเจอผี ทั้งที่คนบอกก็ไม่เคยเห็นผีด้วยซ้ำ สายสิญจน์ที่ว่านี้คือ Comfort Zone ที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ได้กล้าปล่อยพลัง ไม่กล้าทำอะไรที่แตกต่าง เมื่อคิดแต่ในกรอบจะเห็นแต่ความเป็นไปไม่ได้ และนั่นคือเราจะถูกลากกลับมาอยู่ในสายสิญจน์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
  2. กล้าจินตนาการ ถ้าเราไม่กล้าแม้จะจินตนาการ เราจะไม่สามารถอ่านอนาคตได้ มนุษย์เราอยู่กับระบบการศึกษาที่เราคุ้นเคยกับการอ่านตำรา ตำราส่วนใหญ่เป็นเรื่องอดีตกับปัจจุบัน ถึงเวลาที่เราต้องอ่านอนาคต ช่วยให้เราเห็นกระแส เห็นช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เห็นอนาคตว่าจะสร้างของเจ๋งอะไรมาปิดช่องว่างนี้  เห็นโอกาส เห็นช่องทางว่าจะทำมันอย่างไรให้สำเร็จ
  3. กล้าเป็นผู้นำ คนที่เป็นผู้นำ ไม่ได้แปลว่าเขาเกิดมาเก่งกว่า แต่เขาถูกฝึกมาให้เป็นผู้นำที่เป็นเลิศ ในขณะที่คนเป็นจำนวนมากในสังคมเรากลับถูกฝึกมาให้เป็นผู้ตามที่เป็นเลิศ เช่น คำพูดติดปากในสังคมเราว่าเราต้อง “ทัน” เทคโนโลยี คำกริยาเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเราถูกสอนให้เป็นผู้ตาม ในทางตรงข้าม หากเรากล้าที่จะลุกขึ้นมาบอกว่าเราต้องเป็นผู้ “นำ” เทคโนโลยี เราจะอยากทำอะไรที่คนอื่นเขาไม่ทำ
  4. กล้าตั้งโจทย์ เมืองไทยมีคนเก่งๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้เก่งในการแก้โจทย์และสร้างความเป็นเลิศเมื่อมีโจทย์ให้ ได้เป็นแชมป์เพราะมีโจทย์มาให้แก้ แต่การออกจาก Comfort Zone เราต้องอ่านอนาคต จินตนาการและตั้งโจทย์อย่างฉลาด เพราะเก่งเพียงแก้โจทย์ เมื่อต้องเดินเองแล้วจะเดินไม่เป็น

 

วันนี้หากผู้ประกอบการไทยแต่ละคน เรามาเริ่มตั้งโจทย์ที่สร้างศักดิ์ศรีให้กับคนในชาติ จากนี้ไปชาติเราน่าจะมีของเจ๋งหลายอย่างให้สมกับที่เราชอบพูดว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก และนี่จะเป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone ที่แม้จะยากแต่ทำให้คุณมีความสุขทั้งชีวิต สุขจากการทำงาน สุขจาก Passion สุขจากการได้ทำสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า สุขจากการเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตให้กับใครหลายคน

Ready to start your Leadership Journey?