สื่อสารการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เวิร์ค

ถ้าอยากรู้ว่าเจ้านายคนก่อนของคุณเวิร์คไหม ให้ดูว่าตอนแกอยู่ “แกเปลี่ยนอะไรบ้าง” คงไม่มีใครปฏิเสธว่าองค์กรในยุคนี้ต้องการผู้นำที่เข้ามา Change ไม่ใช่แค่เข้ามาเพื่อ Maintain ผู้บริหารที่คุณจะจดจำไปนานแสนนานไม่ใช่คนที่เข้ามาทำงาน Routine หรือรักษาสภาพเดิมให้คงที่ แต่จะเป็นผู้นำที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรต่างหาก

 

อย่างไรก็ตามใบเบิกทางของการเปลี่ยนแปลง คือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด สำเร็จได้โดยปราศจากการสื่อสาร แต่การสื่อสารแบบเว่อร์เกินจริงหรือการสื่อสารแบบทำพอเป็นพิธีนั้นแทบไม่ต่างกัน เพราะมันไม่ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น จนถึงขั้นหันมาให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง

 

ถ้าอยากรู้ว่าการสื่อสารของเราใช้ได้หรือไม่ ให้ดูว่ากลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ (Sense of Urgency) พวกเขาแสดงท่าทีที่จะยอมรับและปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ หรือไม่ (Acceptance) และพร้อมที่จะทำมันอย่างจริงจังและต่อเนื่องหรือไม่ (Commitment) ถ้าคำตอบคือ “ใช่” แปลว่าการสื่อสาร “เวิร์คแล้ว”

 

เมื่อผู้นำพร้อมแล้วที่จะใส่เกียร์เดินหน้าเข้าสู่โหมดการสื่อสาร ต้องเดินไปอย่างมีแบบแผน โดยยึดหลัก 3 ประการดังต่อไปนี้

 

  1. เริ่มจากการกำหนดบรรยากาศในการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ไม่ทำให้ผู้คนรู้สึกถูกคุกคาม สื่อสารอย่างเปิดเผย เพื่อป้องกันข่าวลือและลดความวิตกกังวล การสื่อสารสองทางเป็นวิธีการที่ต้องนำมาใช้ อย่ามัดมือชก พูดฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังใคร สิ่งที่สื่อสารออกไปต้องให้ครอบคลุมและเคลียร์ทุกประเด็น ตอกย้ำความเข้าใจโดยใช้การสื่อสารหลากหลากรูปแบบ เช่น ประชุมชี้แจงกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ในองค์กร เป็นต้น
  2. การประกาศการเปลี่ยนแปลง ต้องครอบคลุมประเด็นสำคัญดังนี้คือ จะเปลี่ยนอะไร (What) ผู้นำต้องชัดเจนเรื่องที่จะเปลี่ยนและเป้าหมายที่ต้องการคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยน (Why) มีเหตุผลและมีความจำเป็นอย่างไรจึงอยู่แบบเดิมไม่ได้ และใครต้องทำอะไรบ้าง (How) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสื่อสารให้เห็นว่าเปลี่ยนแล้วได้อะไร (Benefit) และผลกระทบที่จะตามมาหากไม่เปลี่ยนจะลำบากอย่างไร (Impact)
  3. หากพยายามสื่อสารอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังคงมีใครบางคนไม่ให้ความร่วมมือ ก็อย่าเพิ่งท้อ ให้เข้าไปพูดคุยและไขข้อข้องใจเป็นการส่วนตัว พูดความจริง เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ตั้งใจฟังเพื่อรับรู้ความรู้สึกและปฏิกิริยาของทุกคน แสดงให้เห็นว่าเข้าใจและเห็นใจพวกเขาอย่างแท้จริง บอกให้ทราบที่มาที่ไป เหตุผล ความจำเป็นและสอบถามถึงความต้องการ เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุน

 

งั้น! ถ้าพรุ่งนี้ คุณต้องสวมบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง คงรู้แล้วว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เวิร์ค

Ready to start your Leadership Journey?