Brain-Based Leadership (1) ความผิดใคร?

ปกติผมจะเขียนคอลัมน์นี้ด้วยเนื้อหาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาค ASEAN ให้สมชื่อ Leading Out-of-Thailand

 

แต่วันนี้ขอเขียนเรื่องเมืองไทย ที่กลายเป็นข่าวในระดับภูมิภาค และเป็นเรื่องพูดคุยกันใน Asia School of Business

 

Scandal grows over corporal punishment in Thai schools พาดข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของมาเลเซีย Axed Thai school teacher accused of abuse files police report against parents for assault เป็นข่าวในสื่อ AsiaOne

 

แน่นอน คำถามหนึ่งซึ่งคนถกเถียงกันคือ เรื่องนี้ใครผิด? ครู? โรงเรียน? หรือกระทั่ง ผู้ปกครอง? กระทรวงศึกษา? หรือหน่วยงานรัฐใด? ซึ่งความคิดของแต่ละฝ่ายก็มีแตกต่างกันไปนานา

 

ส่วนตัวผม หากสวมหมวก Leadership and Management เราควรมองว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหน และควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก (หรือใครที่อาจกำลังมีเหตุการณ์นี้อยู่แต่เรื่องยังไม่ ‘แดง’ ขึ้นมา) จะได้วางแผนถูก

 

ซึ่งผมขอใช้โมเดล Go to UTAH ซึ่งเพิ่งเขียนถึงไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ใครอยากทบทวนลองย้อนกลับไปอ่านได้ครับ วันนี้ผมจะเขียนเจาะจงลงไปในกรณีศึกษานี้โดยตรง

 

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

 

  1. Understand the territory โรงเรียนในฐานะเจ้าภาพ ต้องทำความเข้าใจ Values Territory หรือสิ่งที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญ เช่น ผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องอะไร แน่นอน หนึ่งในนั้นคือความปลอดภัยของลูก แต่ผู้ปกครองในโรงเรียนของเราอาจให้ความสำคัญเรื่องเด็กมีความรู้ เขียนหนังสือทำเลขได้ เราจะดำเนินกิจการอย่างไรจึงจะให้ตอบโจทย์ทุกด้าน ส่วนครูของเราล่ะ แต่ละคนให้ความสำคัญเรื่องอะไร บางคนทำงานเพราะรักเด็ก บางคนทำงานเพราะต้องการเงิน ต้องการดูแลพ่อแม่ หรือกระทั่งลึกลงไปบางคนชอบความรู้สึก ‘เป็นใหญ่’ ในห้อง (Authority) ที่สามารถชี้นิ้วสั่งผุ้อื่นได้ หรือชอบความเด่น (Popular) ที่ได้รับจากเพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งโรงเรียนต้องทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ในระดับบุคคล อย่าเหมารวมแค่ว่าจบมามีวุฒินี้ หรือหน้าตาดูสะอาดสะอ้านก็พอ

 

  1. Take pride in your own map หลังจากนั้นโรงเรียนย้อนกลับมาดูสิ่งที่องค์กรตนเองให้ความสำคัญ เราทำโรงเรียนทำไม อยากให้เด็กมีความรู้ อยากให้เด็กมีระเบียบ อยากให้เด็กสนุก และแน่นอน อยากมีรายได้จากลูกค้า(ผู้ปกครอง) ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ หลังจากนั้น เราเลือกสิ่งที่เป็นหัวใจของโรงเรียนของเรา แล้วสื่อสารให้ผู้ปกครองรู้ อบรมให้ครูเข้าใจ รวมถึงวัดผลการทำงานบน Core Values เหล่านี้ เช่น Discipline, Competent, Knowledge, Financial Security, and Friendship

 

  1. Avoid the landmines สิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องคือการเหยียบ ‘กับระเบิด’ ในกรณีนี้คือโรงเรียนเหยียบความสำคัญเรื่อง Safety ของเด็กซึ่งอยู่ในใจพ่อแม่ทุกคน ครูหลายคนอาจยังไม่มีลูก จึงอาจไม่ซึ้งถึงความสำคัญตรงจุดนี้ หลายคนอาจให้น้ำหนักการยอมรับของเพื่อนครู ของครูประจำชั้น หรือกลัวการไม่เข้าพวกมากกว่า สมองให้ความสนใจกับ In-Group และ Out-Group เหมือนที่ครูคนหนึ่งแม้ให้สัมภาษณ์ว่า “หนูเสียใจ หนูขอโทษ หนูสงสารเด็ก ฯลฯ” แต่ก็ทำไปอยู่ดี เพราะ ณ จุดนั้นเขาทำตาม Values ของตนเอง โดยลืมคำนึงถึง Values ของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือกระทั่งของสังคม

 

  1. Hone in on the sweet spot บทสนทนาเท่าที่ผมเห็นและได้รับฟังในสื่อ ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย นั่นคือส่วนของ Values และ Purpose ที่โรงเรียน ครู และผู้ปกครองมีร่วมกัน หากสามฝ่ายมารวมตัวกันเพื่อภารกิจนี้ได้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มันย่อมมีบางเรื่องที่เราให้ความสำคัญตรงกัน เช่น อยากให้เด็กเขียนหนังสือได้ อยากให้เด็กมีความรู้ อยากให้เติบโตมาเป็นคนเก่ง เป็นผู้นำในสังคม ฯลฯ แต่แน่ล่ะ ณ จุดนี้ระเบิดมันลงไปหลายตู้มจากสเต็ป 3) แล้ว ยากที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดได้ องค์กรจึงต้องดูแลจุดนี้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ หมั่นนำทั้งสามภาคีมารวมกัน ประชุมผู้ปกครอง อบรมประเมินครู แล้วสื่อสารให้เห็นชัดว่าสิ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญ และเป้าหมายร่วมของทุกฝ่ายคืออะไร หากมีอะไรที่ผิดเพี้ยนไป จะได้รู้กันก่อนเกิดเหตุ

 

โรงเรียนไหนกำลังกังวลว่าเราอาจจะมีกับระเบิดแบบนี้รอคน(หรือกล้องวงจรปิด)เหยียบอยู่ ลอง Go To UTAH ดู โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษตรงข้อสาม วิเคราะห์แล้วยืนยันข้อมูลให้แน่ใจว่าเราไม่ได้มีจุดที่จะเหยียบ Values ของผู้ปกครอง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ โดยไม่ตั้งใจ

 

ส่วนผู้ปกครองท่านใดกังวลว่าเหตุจะเกิดกับตนเองบ้างหรือเปล่า ก็ลองสังเกต UTAH ของโรงเรียนดูได้ หาก Values and Purpose ของผู้บริหาร ของครู ดูผิดเพี้ยนไปจากความสำคัญที่ตัวท่านเองให้ รีบสื่อสารเสียตั้งแต่ตอนนี้ อย่ารอให้เกิดเหตุก่อน

 

อ่านจบแล้ว สรุปใครผิดครับ?

Ready to start your Leadership Journey?