Ask for Permission

“Would you like to hear only the positive things today? Or would you like to hear both my positive comments and my constructive feedback?” ซีอีโอผู้เป็นโค้ชชี่ของผมท่านหนึ่งถามทีมงาน พวกเขาเพิ่งพรีเซ้นท์โปรเจ็คท์ใหม่ขององค์กรจบวาระลง

“พวกคุณอยากได้รับเฉพาะคำชมจากฉันในตอนนี้ หรือว่าอยากได้รับทั้งคำชมและข้อควรปรับปรุง” คือคำถามอันแสนประหลาดในความรู้สึกของผม ผู้นั่งฟังการประชุมนี้อยู่หลังห้อง

ทำไมคุณถึงถามทีมงานแบบนั้นครับ? ผมเคลียร์ข้อสงสัย เมื่อเราอยู่กันลำพังในเซสชั่น


เธอยิ้มแล้วตอบสั้นๆ ว่า “เพราะมันคือความต่างระหว่างการบุกเข้าไปในบ้านคนอื่น Invasion of privacy และการขออนุญาต Ask for permission ไงละคะ”

จริงๆผมเคยเขียนถึงปรากฏการณ์นี้ไว้แล้วในหนังสือเล่มแรก สมองตัดสินด้วยหัวใจ ผมเรียกมันว่า ‘The จั๊กจี้ Principle’ แปลกไหมครับ ทำไมคนอื่นจั๊กจี้เราได้ แต่เราจั๊กจี้ตัวเองไม่ได้ ให้เป็นคนที่บ้าจี้ขนาดไหน ผมยังไม่เคยเห็นเคสที่มนุษย์สามารถจั๊กจี้ตัวเองได้ นั่นเป็นเพราะเวลาจี้เอวตัวเอง “เรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” แต่เวลาคนอื่นทำ “เราไม่รู้” ร่างกายจึงตอบสนองความไม่รู้ด้วยการรู้สึกจั๊กจี้ อยากห้ามตัวเองก็ห้ามไม่ได้

 

The จั๊กจี้ Principle เตือนเราว่าสมองมนุษย์ให้ความสำคัญอย่างมากกับการรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (Expected) เพราะการรู้หรือไม่รู้อาจหมายถึงการรอดหรือไม่รอด ซึ่งเป็น KPI หลักของสมอง

 

เมื่อปี 2008 วารสาร Nature Neuroscience รายงานผลการทดลองที่น่าทึ่งว่าสมองมนุษย์ตัดสินใจก่อนเจ้าของจะรู้ เช่น สมมติคุณอยากหยิบดินสอขึ้นมาสักแท่ง นักวิจัยที่นั่ง ‘ดู’ สมองของคุณ สามารถบอกได้ก่อนคุณจะรู้ว่าตัวเองกำลังจะหยิบเสียอีก “จริงๆ สมองคุณได้ตัดสินใจก่อนคุณไปเรียบร้อยแล้ว” Dr. Haynes ผู้ทำวิจัยกล่าว

 

อาจเปรียบทางพุทธศาสนาได้ว่า “จิตไปไวกว่าใจ”สมองของผู้นำคาดการณ์ไปล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น ร่างกายเพียงแต่ทำตาม การเปลี่ยน Expectation ที่มันมีจึงเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของสมอง เหมือนการถูกคนอื่นจั๊กจี้เรา

 

The จั๊กจี้ Principle ให้ข้อคิดกับผู้นำว่า การที่เจ้าตัวรู้หรือไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีผลอย่างมากต่อสมองที่ Expected เหมือนเวลาขับรถ สาเหตุที่คนขับไม่เมาเพราะเขาไม่ได้เลี้ยวตามโค้งแต่เลี้ยวก่อนโค้ง คือรู้ว่ารถจะเลี้ยวไปทางไหนก่อนที่รถจะเลี้ยว ส่วนคนนั่งต้องเลี้ยวตามโค้งเพราะไม่ได้เป็นคนขับ คนขับไม่จั๊กจี้ แต่คนนั่งแทบขาดใจ สมองชอบเป็นคนขับ ไม่ชอบเป็นคนนั่ง

 

สำหรับผู้นำ
1) จะทำอะไรก็ตามพยายามอย่าให้สมองคนในทีมเซอร์ไพรส์ สื่อสารกันก่อน ให้แนวทางกันนิด อย่าจิ้มเอวลูกทีมให้สะดุ้ง อย่าปล่อยให้ลูกทีมเมารถ เพราะสมองพวกเขาจะพาลหงุดหงิดไปทั้งไตรมาส

2) เวลาฟีดแบคใครก็อย่าลืมว่าเรากำลังจั๊กจี้สมองของเขา เราเป็นคนพูด กำลังพูดในเรื่องที่ไม่ใช่ตัวเรา และที่สำคัญเรารู้ว่าเรากำลังจะพูดอะไร แต่คนที่กำลังถูกฟีดแบคไม่รู้ ดังนั้นคนจั๊กจี้ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่คนฟังอาจดิ้นจนน้ำตาไหลไปหลายวัน

3) ในมุมกลับกัน ผู้รับก็อย่ารอฟีดแบค หากเราเป็นคนขอ “หัวหน้าคะ โครงการที่หนูเพิ่งทำเสร็จไปเป็นอย่างไรบ้างคะ? หนูอยากได้คำแนะนำเพื่อทำครั้งหน้าให้ดีขึ้นอีก” เวลาฟังคำแนะนำเราจะไม่เกิดอารมณ์ร่วมเท่าไหร่ แต่ถ้ารอให้ “คุณแอนเดี๋ยวเชิญพบผมที่ห้องหน่อย” เตรียมตัวดิ้นพราดๆ ได้เลย ทางลัดให้สมองเราจะรู้สึกจั๊กจี้น้อยที่สุดคือต้องขอฟีดแบ็คจากคนอื่น รีบฉวยโอกาสจี้เอวตัวเองก่อน

ดีใจจังครับที่ได้เห็นการ Ask for Permission นำไปปฏิบัติจริง

Ready to start your Leadership Journey?