ASB

เมื่อเร็วๆนี้ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Unconference ของ ASB (ย่อมาจาก Asia School of Business) จัดที่ FYI Centre โดยมีอนันดา พร้อพเพอร์ตี้ เป็นเจ้าภาพ

 

สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคย ASB เป็น Business School ซึ่งตั้งขึ้นบนความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและ Sloan School of Management ของ Massachusetts Institute of Technology ที่คนไทยรู้จักกันดีว่า MIT

 

นัยส่วนตัวของผมคือ ASB กับสถาบันผู้นำ Iclif ที่ทำงานอยู่ จะรวมเป็นองค์กรเดียวกันในปี 2019 นี้ คิดง่าย ๆ คือทางเราจะกลายเป็นส่วน Executive Development ทำหลักสูตรสำหรับผู้บริหารในองค์กร คู่กับฝั่งหลักสูตร MBA ซึ่ง MIT ดูแลอยู่

 

ความสนุกคือมันจะเป็นการเชื่อมต่อจุดแข็งของกันและกัน จำนวนอาจารย์จะพุ่งขึ้นเป็นเกือบยี่สิบคนมาจากสิบกว่าประเทศ หลักสูตรจะครอบคลุมทั้งต้นน้ำปลายน้ำของการบริหารจัดการ และการให้บริการจะตอบโจทย์ความท้าทายขององค์กรทั้งในและนอกเอเชียได้อย่างครบวงจร

 

การนำ ASB และ Iclif มารวมกันจะเกิด Synergy ที่ทำให้ 1+1 > 2

 

ASB มีองค์ความรู้จาก MIT มีคณาจารย์ประสิทธิภาพชั้นเลิศ มีผู้เข้าโครงการปริญญาโทด้านบริหารจัดการธุรกิจจากหลากหลายประเทศทั่วโลก และผู้เรียนจะได้เข้าไปร่วมทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ผ่านโครงการ Action Learning  

 

“We are recognized as The Most Innovative MBA Programme” ดร. ชาร์ลส ไฟน์ หรือเราเรียกกันสั้น ๆ ว่า ชาร์ลี กล่าว ท่านเป็น President and Dean คนปัจจุบัน ย้ายจากอเมริกามาอยู่ที่เคแอลได้สามปีแล้ว

 

ส่วน Iclif มีผลงานด้านการพัฒนาผู้นำเกือบสองทศวรรษ หลักสูตร Open Enrolment เช่น Leading Leaders, Emerging Leaders, Open Source Innovator จัดในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย เราทำหลักสูตร Custom-Built ให้กับองค์กรตั้งแต่ในอาเซียนไปจนถึงยุโรป มี Content เป็นของตนเองที่ผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก ไม่นับงานด้านอื่น ๆ เช่น การประชุม Leadership Energy Summit Asia (LESA) ซึ่งจัดทุกปี Iclif Leadership Energy Award (ILEA) เพื่อเฟ้นหาเรื่องราวของผู้นำเอเชีย Women of the World และอื่นๆ

 

เอาล่ะ แต่มันมีประโยชน์กับคนไทยอย่างไร?

 

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

  1. Switch to English ข้อจำกัดของคนไทย(ส่วนใหญ่)คือภาษาอังกฤษ ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นี่รู้ดีว่าเพื่อนบ้านเค้ามีระดับความสามารถด้านนี้เหนือเราแค่ไหน ไม่ใช่แค่มาเลเซียหรือสิงคโปร์ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ก็ล้วนดูจะเริ่มมีความได้เปรียบด้านภาษาเหนือไทยอย่างเห็นได้ชัด หากเราอยากออกให้พ้นกรอบนี้ ผู้นำไทยและองค์กรไทยต้องกล้าเปลี่ยนแปลง วิธีที่ได้ผลที่สุดสำหรับสมองคือการหักดิบ หลักสูตรพัฒนาบุคลากรในองค์กรควรเลิกใช้ภาษาไทยแล้วเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่ใช้แค่ใช้สไลด์ภาษาอังกฤษ แต่การเรียนการสอน บทสนทนาต่างๆต้องเปลี่ยนแบบเบ็ดเสร็จ เป็นวิธีเดียวที่คนไทยจะเร่งความสามารถด้านนี้ของเราขึ้นมาได้
  2. Learn with Non-Thais เปลี่ยนแค่ภาษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการเรียนด้วย ตอนนี้ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่พอแล้ว เราต้อง ‘เถียง’ เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย วิธีเดียวที่คนไทยจะทำสิ่งนั้นได้คือการเปลี่ยนมาเรียนร่วมกับคนชาติอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในภูมิภาค โลกในอนาคตของคนไทยไม่ได้ต้องการภาษาอังกฤษสำเนียง BBC เพราะประเทศต่างๆในเอเชียมีวิธีพูดภาษาอังกฤษอันเป็นเอกลักษณ์ (บางประโยคคนอังกฤษหรือคนอเมริกันฟังแล้วยังงงเป็นไก่ตาแตก) องค์กรแห่งเอเชียต้องการผู้จัดการผู้บริหารที่เถียงกับอินเดียได้ทัน พูด Singlish และฟัง Manglish รู้เรื่องต่างหาก
  3. Build Asian Connection ผมบอกชาร์ลีว่า จริงๆแล้ว ASB เหมาะกับคนแถวนี้มากกว่าการไปเรียนที่ MIT เสียอีก แกทำหน้างงว่าจะเป็นไปได้อย่างไร อธิบายง่ายๆคือคนเอเชียได้ประโยชน์จากการมีเพื่อนเป็นเอเชียนมากกว่าเพื่อนที่อยู่คนละซีกโลก ตัวผมเองมีเพื่อนมากมายจากการเรียนหนังสือทั้งในอังกฤษ ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่ปัจจุบันแทบไม่ได้ติดต่อกัน โดยเฉพาะด้านการทำงานยิ่งไม่เกี่ยวเลย เพราะสังคมเราหมุนห่างกันเกินไป สถาบันอย่าง ASB เปิดโอกาสให้เราได้เป็นเพื่อนกับคนเอเชียด้วยกัน ผู้บริหารจากองค์กรเอเชียได้พบปะกินนอน ร่วมทำโปรเจ็คกับผู้บริหารเอเชียด้วยกัน เป็น network ที่มีประโยชน์กว่าไปเรียนที่ Boston อย่างเห็นๆ

 

ผมไม่ได้เขียนเรื่องวันนี้เพราะเห็นว่าของไทยไม่ดีของนอกดีกว่า แต่เขียนเพราะรู้ว่าโจทย์บางอย่างคำตอบที่มีในบ้านเรานั้นแก้ไม่ได้

 

บางคนอาจแย้งว่า หลักสูตรอินเตอร์เมืองไทยมีเยอะแยะ หาเรียนที่นี่ก็ได้ ไม่เห็นต้องออกไปเรียนของคนอื่นเขา เชื่อผมเถอะครับว่า ต่อให้เป็นหลักสูตรอินเตอร์ สอนด้วยอาจารย์อิมพอร์ต แต่ถ้าคนเรียนทั้งห้องเป็นไทย สุดท้ายเราก็จะได้วัฒนธรรมแบบไทย และได้ครูฝรั่งที่พูดไทยคล่องอยู่ดี

 

หรือใครจะเถียง?

Ready to start your Leadership Journey?