ทำไม ‘บริษัท’ ไม่ใช่ ‘ครอบครัว’

เวลาคุณได้ยินคนพูดว่า ที่นี่เราอยู่กันแบบ​ “ครอบครัว” คุณคิดอย่างไร

     สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้อ่านบทความที่น่าสนใจบทความหนึ่งในช่วงเปิดปี โดย ดร. David Burkus นักจิตวิทยาองค์กร ได้กล่าวไว้ในงาน TEDxUniversity of Nervada Talk ว่า บริษัทไม่ใช่ครอบครัว! ยิ่งบริษัทใช้ว่า ครอบครัว บ่อยมากขึ้นแค่ไหน ยิ่งส่งผลทางลบมากขึ้นเท่านั้น

แม้จะฟังดูอบอุ่น แต่คำว่า “ครอบครัว” นั้นหมายถึง การขาดระบบ เมื่อถูกนำมาใช้ผิดๆ เพื่อเป็นเครื่องมือให้พนักงานจงรักภักดีและแลกด้วยการทำงานที่หนักขึ้น มันจึงนำมาซึ่งความเสียหายมากมาย

1.พนักงานเกิดความสับสนว่าอะไรคือเรื่องงานและอะไรคือชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะในช่วงก่อนโควิด มีหลายกองค์กรที่งัดอาวุธเด็ดๆ มาทำให้พนักงานรู้สึกว่า “บริษัทคือบ้าน” เช่น แจกอาหาร เครื่องดื่ม ขนม จัดปาร์ตี้  มีบริการนวด ตู้เกมส์ โต๊ะปิงปอง รวมไปถึง ฟิตเนสในที่ทำงาน เพื่อให้พนักงานใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า การที่พนักงานใช้เวลาอย่างยาวนานในที่ทำงาน โดยไม่มีเวลานอกงานไปทำสิ่งอื่น กลับไม่ได้ช่วยให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ดีขึ้น

2.พนักงานที่มุ่งมั่นผูกผันกลับถูกฉวยประโยชน์ เมื่อบริษัทพยายามเน้นเรื่องความเป็น “ครอบครัว” นั่นหมายถึง บริษัทกำลังขอให้พนักงานผูกผันกับองค์กรในระดับที่สูงขึ้น เช่น การทำงานเกินกว่าเก้าอี้ ทำงานมากกว่าบทบาทที่คุยกันไว้ตั้งแต่ต้น มาทำงานเช้ากลับทีหลัง แน่นอนที่สุดความรู้สึกแบบครอบครัว มันมัดมือให้พนักงานปฏิเสธได้ยาก กลับต้องต้องหอบหิ้วงานไปทำที่บ้านหลังเลิกงาน หรือในวันหยุด ซึ่งในหลายๆ กรณีพบว่าไม่นานนัก พนักงานเหล่านี้ก็จะเกิดความเครียดและหมดไฟไปเอง

3.พนักงานที่ลาออกถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ พวกเขาถูกตัดขาดจากการสื่อสารในองค์กรไม่นานหลังยื่นใบลาออก เหมือนเขาเป็นคนทรยศในขณะที่เขายังติดต่อสื่อสารและนั่งทำงานกับเพื่อนๆ ในที่ทำงาน คนอื่นอยู่

ในทางตรงข้าม องค์กรควรหันมาให้ความสำคัญกับคำว่า “ทีม” กล่าวคือ

1.เน้นที่เป้าหมายร่วมกัน (Purpose) เพราะเพียงคำว่า “ครอบครัว” ไม่ใช่เป็นตัวสร้างความผูกพันที่ดีในองค์กร ในทางตรงข้าม งานวิจัยพบว่า การสร้างความผูกพันในองค์กรได้เป็นอย่างดี คือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ที่คนในองค์กรต่างรู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มักเห็นในรูปแบบของ Purpose ว่าองค์กรมีอยู่เพื่อสร้างคุณค่าให้กับคนรอบตัวอย่างไร

2.ส่งเสริมเรื่องเส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ในโลกการทำงานสมัยใหม่ พบว่าการทำงานไม่มีทางจบสิ้น การส่งเสริมให้พนักงานทำงานหนัก โดยใช้มุก “ครอบครัว” จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ในทางตรงข้าม ผู้นำองค์กรควรสนับสนุนให้พนักงานหาเวลาว่างนอกเวลางาน ไปทำกิจกรรมอื่นที่ตนเองมีความสุขนอกเหนือการทำแต่งาน หลายต่อหลายบริษัทเริ่มส่งเสริมเรื่องการหยุดส่ง email หลังเลิกงาน ออกนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไปจนถึงจ่ายเงินให้พนักงานไปเที่ยว เพราะการได้ใช้เวลานอกเหนือจากการทำงาน กลับช่วยทำให้การทำงานดีขึ้น

3.แสดงความยินดีกับพนักงานที่ลาออก ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะมุ่งมั่นผูกพันขนาดไหนก็ตาม วันหนึ่งพวกเขาก็ต้องจากไปด้วยเหตุผลร้อยแปดพันเก้า การตราหน้าว่าคนที่กำลังจะจากไปเป็นคนทรยศ กลับทำให้บริษัทดูแย่ในสายตาพนักงาน ในทางตรงข้ามการร่วมแสดงความยินดีกับเส้นทางใหม่ที่เขาเลือก ยกย่องพวกเขาในฐานะศิษย์เก่า กลับเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับองค์กรและพวกเขาจะเป็นแหล่งในการหาพนักงานใหม่ๆ มาให้ การปฏิบัติต่อพนักงานที่จากไปอย่างดีจะส่งผลให้พนักงานที่อยู่กลับมีแรงจูงใจในการทำงานกับองค์กรเพราะพวกเขาเห็นสิ่งบวกๆ ภายใต้วัฒนธรรมแห่งความไว้ใจ

     การใช้คำว่า เราอยู่กับอย่าง “ครอบครัว” ในองค์กร อาจเป็นคำที่ดูอบอุ่น แท้จริงแล้วอาจนำโทษมาให้ พนักงานส่วนมากไม่ได้อยากเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแต่อยากเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ผูกพันกันด้วยพันธกิจและเป้าหมายทิ่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน ภายใต้ความไว้เนื้อเชื่อใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน พวกเขาต่างต้องการสร้างคุณค่าทั้งในขณะที่อยู่และจากลา

พนักงานต้องการผู้นำที่ช่วยให้เขาเก่งขึ้น สร้างคุณค่าได้ดีขึ้นมากกว่าผู้นำที่เอาคำว่า “ครอบครัว” มาใช้เป็นเครื่องมือให้พวกเขาจงรักภักดีและแลกด้วยการทำงานที่หนักขึ้น

Ready to start your Leadership Journey?