6 อุปนิสัยแห่งความ(ไม่)สำเร็จ

“สลิงชอท” ก่อตั้งมา 16 ปี ทำหน้าที่พัฒนาผู้นำให้องค์กรต่าง ๆ ไปแล้วมากกว่า 100,000 คน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ทำวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำไทยที่มีศักยภาพได้รับการยอมรับระดับสากล

 

ทั้งจากประสบการณ์และข้อมูลที่ได้จากการวิจัย พบว่า คนไทยไม่ได้เก่ง หรือมีศักยภาพน้อยไปกว่าผู้นำชาติใดในโลก แต่พอถึงเวลาที่จะคัดเลือกผู้บริหารไปดูแลธุรกิจระดับภูมิภาค (regional role) ขององค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่ ปรากฏว่าผู้นำไทยกลายเป็นตัวเลือก (candidate) อันดับท้าย ๆ

 

ขณะเดียวกัน เมื่อลูกค้าต่างชาติในแถบบ้านเราอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น มองหาวิทยากรไปสอนเรื่องภาวะผู้นำ พอส่งประวัติวิทยากรคนไทยไปให้ ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เลือกเพราะคนไทยไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านการเป็นผู้นำที่เป็นที่ยอมรับ

 

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ?

 

ปัญหาใหญ่อยู่ที่เรามีลักษณะ 6 ประการที่คอยขัดขวางไม่ให้เติบโตได้เต็มศักยภาพที่มี อันประกอบด้วย

 

  1. คนไทยไม่ค่อยกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ยืนยันสิ่งที่ตนเองคิดอย่างชนิดเอาเป็นเอาตาย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลานำเสนออะไรในที่ประชุม หากมีคนเห็นค้าน เห็นต่าง หรือแสดงความคิดในเชิงไม่เห็นด้วย คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะหยุด ไม่สู้ ไม่ไปต่อ เพราะไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากทะเลาะกับใคร โบราณจึงมีคำสอนทำนองให้สงบปากสงบคำ อย่างเช่น พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง หรือจงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย เป็นต้น

 

เราขาด Assertiveness

 

  1. คนไทยสบาย ๆ ไม่ค่อยมุ่งมั่น ขาดการเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่คนกัดไม่ปล่อยกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ พอไม่ได้หรือไปไม่ถึง ก็มักหาคำอธิบายให้ตัวเอง คำว่า “ที่แล้วก็แล้วไป” หรือ “ไม่เป็นไร พยายามใหม่” จึงกลายเป็นคำพูดติดปากที่ทำให้ไม่รู้สึกเคอะเขินเวลาทำอะไรไม่สำเร็จ

 

เราขาด Persistence & Commitment

 

  1. คนไทยไม่ค่อยเก่งในการสร้างคน หัวหน้า หรือผู้บริหารหลายคนเป็นคนเก่ง แต่ไม่สามารถสร้างลูกน้องให้เก่งเหมือนตัวเองได้ การเลือกคนมาแทนตนเอง (successor) มักไม่ได้เลือกจากความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้จักมักคุ้น และความสนิทสนมส่วนตัว มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญด้วย

 

เราขาด People-building Skill

 

  1. คนไทยไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากนัก อาหารการกินสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว อากาศและสภาพแวดล้อมก็ไม่ต่างกันมากในแต่ละวัน จึงไม่จำเป็นต้องเช็กสภาพอากาศ และเตรียมการก่อนออกจากบ้าน เรามีพื้นที่สบาย (comfort zone) ทำให้ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

 

เราขาด Change Adaptability

 

  1. คนไทยชอบอยู่ในสังคมปิด ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่นที่ไม่คุ้นเคย คบแต่พวกกันเอง ดูตัวอย่างง่าย ๆ ได้จากเวลาที่ไปประชุมสัมมนา ถ้าเลือกได้เรามักนั่งกับคนที่รู้จัก หรือมาจากองค์กรเดียวกัน หากไปประชุมต่างประเทศคนไทยก็เลือกนั่งกับคนไทยด้วยกัน ไปกินข้าวพร้อมกัน เกาะกลุ่มกันเอง จริงอยู่เราไม่รังเกียจ หากต่างชาติจะมานั่งหรือร่วมวงด้วย แต่คนไทยจะไม่เดินผ่านโต๊ะคนไทยด้วยกันไปนั่งกับต่างชาติเป็นอันขาด

 

เราขาด Diversity Appreciation

 

  1. คนไทยไม่ค่อยมองอะไรไกล ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรม เรามักนึกถึงอนาคตสัก 3 ปี 5 ปี ก็ถือว่าไกลมากแล้ว หากไปถามใครสักคนว่าเป้าหมายในชีวิตอีก 50 ปีจากนี้ไปคืออะไร คงถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมีเป้าหมายหรือแผนระยะยาวมาก่อนเลย จนกระทั่งเมื่อปี 2560 ที่เพิ่งมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียยับเยินว่าวางแผนยาวขนาดนี้จะได้ผลหรือ

 

เราขาด Long-range Vision

 

สรุปคือในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อุปนิสัยเหล่านี้จะยิ่งทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

 

เพราะเมื่อโลกเปลี่ยน ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องปรับตัวเอง

Ready to start your Leadership Journey?