‘ไทย’ กับโลกแห่งการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า

เผยผลการศึกษา “Leadership Foresight 2035: ผู้นำแห่งอนาคตที่โลกต้องการ” ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างสององค์กร Slingshot Group และ FutureTales Lab by MQDC ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อเตรียมผู้คนให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต

ผลการศึกษาเสมือนพาทุกท่านนั่ง time machine ไปดูความเป็นไปได้ของอนาคตขององค์กรไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อจะได้เห็นแนวโน้มสำคัญที่กำลังก่อตัวขึ้น ผ่าน 5 ฉากทัศน์ที่ผู้นำยุคใหม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ 

ฉากทัศน์ที่ 1: ภาวะผู้นำที่ผสานเทคโนโลยีกับวัฒนธรรมไทย

ภายในปี 2035 ประเทศไทยถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำในการปฏิวัติรูปแบบการทำงานที่ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ากับค่านิยมทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางธุรกิจไทยอย่างลงตัว  อาทิการส่งเสริมความร่วมมือในทีมโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “เซียมซี” ผสานกับ AI เพื่อสุ่มภารกิจที่ส่งเสริมให้คนทำงานร่วมกัน เช่น “เสี่ยงเซียมซีหาเพื่อนร่วมงานใหม่ในโปรเจคใหม่,” หรือ “เสี่ยงเซียมซีรับและให้ฟีดแบคเชิงบวกแก่เพื่อนร่วมทีม” วิธีนี้ช่วยสร้างวัฒนธรรมที่สนุก ทันสมัย และมีเป้าหมายอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ขนบธรรมเนียมไทยยังคงถูกรักษาไว้ผ่านแพลตฟอร์มเสมือน เช่น การจัดงานสงกรานต์และลอยกระทงที่ให้พนักงานทั่วโลกมีส่วนร่วม Blockchain ยังเข้ามามีบทบาทในการมอบ “พรดิจิทัล” หรือโทเคนเฉพาะตัว เพื่อเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับเทคโนโลยีและส่งเสริมการมีส่วนร่วม

ฉากทัศน์ที่ 2: ภาวะผู้นำที่ขับเคลื่อนด้วยความเห็นอกเห็นใจท่ามกลางเทศกาลแห่งวิกฤต

แรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับโลกที่ผันผวนและอยู่ในสภาวะทำงานอย่างหนัก ภาวะเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตสิ่งแวดล้อม ความไม่มั่นคงทางเทคโนโลยี และความขัดแย้งทางสังคมที่เพิ่มขึ้น คือชุดของวิกฤตที่ถาโถมเปลี่ยนโฉมสภาพแวดล้อมการทำงานอย่างสิ้นเชิง และบังคับให้องค์กรต้องปรับตัวอย่างจริงจัง

หากองค์กรไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับพนักงานได้ พวกเขาอาจเผชิญกับความเหนื่อยล้า ความขัดแย้ง และปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ตามมา บทบาทของผู้นำจึงขยายจากการบริหารงาน ไปสู่การดูแลพนักงานอย่างองค์รวม องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาแผนกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ทั้งการอยู่รอดและเติบโต ความยืดหยุ่น (flexibility) สุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) และความเห็นอกเห็นใจ (empathy) กลายเป็นทักษะจำเป็นต่อการรักษาองค์กรในโลกที่ไม่แน่นอน ยิ่งกว่านั้นผู้นำยุคใหม่ต้องไม่เพียงแค่บริหารงาน แต่ต้องจุดประกายให้พนักงานเห็นความหมายของงาน สร้างพื้นที่แห่งการเติบโตและการเรียนรู้ และเป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นและมีหัวใจเพื่อพาทีมก้าวผ่านความไม่แน่นอนด้วยความมั่นใจและความเมตตา

ฉากทัศน์ที่ 3: ภาวะผู้นำที่คล่องตัวในเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (Multi-Gig Economy)

แรงงานไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น “1 คน ทำงานหลายบทบาท หลายองค์กร” บุคคลสามารถสลับบทบาทระหว่างพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ และโปรเจกต์ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เป้าหมายชีวิตส่วนตัวและอาชีพ บุคคลสามารถหารายได้มากขึ้นโดยไม่ต้องยึดติดกับงานประจำ 9-5 โมงอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ด้านการทำงานร่วมกัน การวางแผนการเงิน และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

บางบทบาทอาจกลายเป็น “ผู้นำแบบกิ๊ก” เองด้วย องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมไลฟ์สไตล์แบบหลายกิ๊ก ข้อตกลงการจ้างงานจำเป็นต้องชัดเจนและโปร่งใสในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความลับ และจริยธรรม ท่ามกลางการแข่งขันสูง คนเก่งที่มีทักษะเฉพาะและแบรนด์ส่วนตัวแข็งแรงจะเป็นที่ต้องการสูง ส่วนผู้ที่ไม่มีทักษะเฉพาะจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ฉากทัศน์ที่ 4: ภาวะผู้นำที่ผสมผสานระหว่างนวัตกรรมร่วมสมัยกับมรดกทางวัฒนธรรม

ในโลกที่ผันผวน แรงงานทั่วโลกรวมถึงไทยต่างมองหาคุณค่าที่แท้จริงในการทำงาน ผู้นำจึงต้องออกแบบองค์กรใหม่ ด้วยการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมร่วมสมัยกับมรดกทางวัฒนธรรม เช่น หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพุทธศาสนา การให้ความสำคัญกับความกรุณา ความละอายต่อบาป และความเคารพซึ่งกันและกัน

วัฒนธรรมองค์กรจะเต็มไปด้วยน้ำใจ การเห็นอกเห็นใจ การให้อภัย และความรับผิดชอบทางจริยธรรม ระบบรางวัลอาจเชื่อมโยงกับบุญ กรรม หรือพฤติกรรมตามหลักธรรม แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำต้องจัดการกับความขัดแย้งระหว่างคุณค่ารุ่นใหม่กับวัฒนธรรมแบบเก่า เช่น ระบบอาวุโสหรือโครงสร้างที่เน้นอำนาจ เมื่อมีแรงงานต่างชาติและเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ผู้นำจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของชาติและการเปิดกว้างสู่นานาชาติ พร้อมรับมือกับผลกระทบด้านวัฒนธรรม การปฏิบัติงาน และประสิทธิภาพ

ฉากทัศน์ที่ 5: ภาวะผู้นำแบบสร้างส่วนร่วมระหว่างมนุษย์ หุ่นยนต์ และความรู้สึกเป็นคนสำคัญ

ในปี 2035 แรงงานไทยจะเปิดกว้างต่อความหลากหลายในทุกมิติ เชื้อชาติ เพศ วัย วัฒนธรรม รูปแบบชีวิต และแม้แต่การทำงานร่วมกับ AI หุ่นยนต์ และมนุษย์เสริมสมรรถนะทางดิจิทัล

AI ถูกใช้เพื่อจัดการทีมที่หลากหลาย ช่วยวิเคราะห์อารมณ์ พฤติกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการร่วมมือข้ามรูปแบบ การสื่อสารไร้พรมแดนผ่านแพลตฟอร์มที่ปรับตามสไตล์ของแต่ละคนอย่างอัตโนมัติ ผู้นำในโลกนี้ต้องใช้ภาวะผู้นำเชิงอารมณ์ (Emotional Intelligence) อย่างลึกซึ้ง เข้าใจความต้องการของแต่ละคน ให้ทุกเสียงมีความหมาย และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้การเรียนรู้ร่วมกันเกิดขึ้น การบริหารทีมข้ามเจเนอเรชั่นกลายเป็นทักษะสำคัญ ผู้นำต้องเข้าใจจุดแข็งของแต่ละวัย พร้อมทั้งนำนโยบาย aging-friendly มาใช้จริง

ทั้ง 5 ฉากทัศน์นี้เป็นแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้น ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรเตรียมผู้นำรุ่นใหม่ให้พร้อมกับทุกความเป็นไปได้ในอนาคต

คำถามจึงไม่ใช่ว่า “อนาคตแบบไหนจะเกิดขึ้น”

แต่คือ “เราจะเลือกสร้างอนาคตแบบไหน?”

👉 Download Slingshot’s Research and Insight Click here
https://mailchi.mp/slingshot/research2025


 

Ready to start your Leadership Journey?