4 ปีผ่านไป ได้เรียนรู้อะไรจาก ‘ผู้ว่าหมูป่า’

     หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เหตุการณ์สำคัญที่เราได้มีโอกาสเห็นถึงความสามัคคีคือพลังของคนไทย กับปฏิบัติการถ้ำหลวง ภารกิจช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ความสำเร็จในการนำสมาชิกทีมหมูป่าออกมาครบ 13 ชีวิต

     แม้ภารกิจช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่าจะผ่านมาร่วม 4 ปีแล้วก็ตาม แต่ชื่อของแม่ทัพอย่างผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กับภารกิจที่มีชีวิตเป็นเดิมพันยังอยู่ในความทรงจำของพวกเรา สำหรับดิฉันเองก็มักจะยกกรณีศึกษานี้เพื่อถอดบทเรียนผู้นำ วันนี้ได้มีโอกาสนั่งคุยกับท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี การพูดคุยตลอด 1 ชั่วโมง ต้องบอกว่าท่านยังเล่าเรื่องราวด้วยพลังและความหวังไม่ต่างจากภาพที่เราเห็นจากสื่อในเหตุการณ์ในวันนั้น

ได้ฟังท่านเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น ดิฉันเชื่อว่ามีหลายบทเรียนที่ยังคงความอมตะ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการนำองค์กรวันนี้ได้เช่นกัน

     1.หมดสมัยของ “ผู้นำที่เก่งคนเดียว” (Heroic Leadership) ถึงเวลาสร้าง “ผู้นำร่วม” (Shared Leadership) เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ตลาด ความต้องการลูกค้า เทคโนโลยี สังคม ซึ่งหลายงานซับซ้อนใหม่และใหญ่เกินกว่าการรอผู้นำเพียงคนเดียว ความสำเร็จร่วมกันจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้นำให้โอกาสคนในองค์กรได้รับบทบาทผู้นำร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำ ประสานความร่วมมือ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของเขา ท่านผู้ว่าย้ำหลายครั้งว่าความสำเร็จในวันนี้ “ผมไม่ใช่ฮีโร่ ผมเป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่เป็นคนต่อจิกซอว์เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด” บทบาทของผู้นำคือเน้นย้ำในเป้าหมายร่วม (Purpose) หาทีมที่เก่ง ให้ความไว้วางใจเขา เมื่อเป้าหมายชัดเจน แผนชัดเจน หมั่นประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของทีม และเปิดโอกาสให้เขาทำงานของเขาอย่างเต็มที่ นำทีมที่เขาเชี่ยวชาญเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

     2.ผู้นำต้องพูดภาษา “คน” พื้นที่ปฏิบัติการในครั้งนั้นจะมีบอร์ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ เขียนข้อความที่เป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติการสะท้านโลกครั้งนั้นติดอยู่กับต้นไม้ที่เป็นจุดนั่งพักของเหล่าซีลแก่-ซีลหนุ่ม หนึ่งในหัวใจสำคัญคือ “Speak Human Language” ซึ่งถือเป็นการย้ำเตือนคุณสมบัติของมนุษย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจ ความไว้วางใจ ความสามัคคี แม้บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็เสียสละมาเป็นจิตอาสา แม้พูดคนละภาษา เมื่อเจอปัญหาก็ทำงานด้วยกันได้ เพราะมีเป้าหมายแห่งมนุษยชาติร่วมกัน และนี่คือเสน่ห์ของสังคมมนุษย์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการนำในช่วงวิกฤต

     3.สร้างบรรยากาศ “เห็นต่างอย่างลงตัว” ในสถานการณ์ทั่วไป เห็นต่าง มักไม่จบด้วยลงตัว เช่น ไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติ ข่าวลือ คอมเม้นท์ที่เกิดหลังจบประชุม หัวใจสำคัญของการประชุมทุกครั้งของปฏิบัติการในครั้งนั้นคือ “No idea is stupid idea” ผู้นำต้องแสดงให้เห็นว่าทุกความคิดเห็นมีคุณค่า เมื่อมีคนนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างแต่ความคิดนั้นไม่ได้มีมติให้นำไปปฏิบัติ บทบาทของผู้นำคือต้องเดินไปแสดงความขอบคุณและชื่นชมที่มีการนำเสนอไอเดีย และขอความร่วมมือในการร่วมปฏิบัติเพื่อความสำเร็จร่วมกัน ปฏิบัติการถ้ำหลวงที่มีชีวิตเป็นเดิมพันกลายเป็นสุดยอดของการรวมตัวของสุดยอดมนุษย์แต่ละสาขา ความสามารถในการทำให้ความเห็นต่างจากความเชี่ยวชาญลงตัวเกิดเป็นแผนกู้ภัยที่รอบคอบและเป็นระบบ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของผู้นำในการสร้างบรรยากาศให้เกิดความไว้ใจร่วมกัน

 

 

Ready to start your Leadership Journey?