ทฤษฎีปลาฉลาม

ชาวญี่ปุ่น เป็นชาติที่ชอบบริโภคปลาเป็นชีวิตจิตใจ คนญี่ปุ่นจะรู้ทันทีว่าปลาที่กินสดหรือไม่สด ปกติ ปลาเป็น(ยังมีชีวิต) มีราคาสูงกว่า ปลาตาย(ที่แช่แข็งไว้) มาก

 

แต่ปัญหาคือ เวลาชาวประมงออกเรือ โดยเฉพาะเรือใหญ่ที่จับปลาเป็นอุตสาหกรรม ไม่ได้ไปเช้าเย็นกลับ ดังนั้นปลาที่จับได้ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องแช่แข็งไว้ จนวันหนึ่ง มีคนคิดได้ว่า น่าจะสูบน้ำสักนิดหน่อยมาใส่ไว้ใต้ท้องเรือ แล้วเอาปลาที่จับได้ ขังไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้ตาย จนกว่าจะถึงฝั่ง จึงจับขึ้นมาใหม่

 

นับว่าเป็นความคิดที่เฉียบแหลมมาก ง่ายๆ แต่ได้ผลดี

 

ปัญหาทำท่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่ในความเป็นจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนญี่ปุ่นกินปลามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จึงรู้จักปลาเป็นอย่างดี แม้ปลาจะยังสดอยู่ แต่พอปรุงเป็นอาหารแล้วทานเข้าไป ก็รู้ได้ทันทีว่า “รสชาติไม่ดี” อย่างที่ควรจะเป็น

 

เพราะปลาที่ถูกขังอยู่ใต้ท้องเรือเป็นเวลานานหลายวัน ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ทำให้เนื้อปลาไม่แน่นเหมือนปลาที่อยู่ในทะเล … แทนที่จะขายได้ราคาดี ก็กลายเป็นว่าราคาตกไปอีก

 

แล้วจะทำยังไง ?

 

หลังจากครุ่นคิดหาหนทางอยู่นานว่าจะทำอย่างไรให้ปลาที่ถูกขังไว้ ยังคงขยันว่ายน้ำเหมือนตอนอยู่ในทะเล ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ต้องใส่ปลาฉลามสักตัวลงไปใต้ท้องเรือด้วย เพื่อให้ไล่กินปลาที่ถูกขังไว้

 

แม้ฟังดู จะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยเข้าท่าในตอนแรก แต่ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะปลาเล็กปลาน้อย ต่างต้องว่ายน้ำหนีตายจากการกลายเป็นเหยื่อของฉลาม ที่คอยไล่กินตลอดเวลา แม้ชาวประมงจะสูญเสียปลาบางส่วนไปเป็นอาหารให้เจ้าฉลาม แต่ก็พบว่าปลาที่เหลืออยู่ ทุกตัวแข็งแรงมากเพราะต้องว่ายน้ำทั้งวันและทุกวัน ! 

 

ปลาพวกนี้ เมื่อถึงฝั่งก็ขายได้ราคาดี คุ้มค่ากับการสูญเสียนิดๆ หน่อยๆ แบบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้มีความละเอียดอ่อนมากกว่าแค่หาปลาฉลามมาหนึ่งตัว แล้วโยนใส่ลงไปในบ่อ หัวใจสำคัญคือความพอเหมาะพอเจาะ ทั้งในเรื่องเวลา (ถ้าใส่เร็วไป ปลาเล็กถูกกินหมด ถ้าใส่ช้าไป ปลาส่วนใหญ่อาจไม่ว่ายน้ำแล้ว) จำนวนและขนาดของปลาฉลาม (ใส่มากไปก็เสียหาย ใส่น้อยไปก็ไม่พอจะไล่ปลาอื่นๆ ใส่ตัวใหญ่ไปก็กินปลาหมดบ่อ ใส่ตัวเล็กไปก็ไม่ได้ผล)

 

หลักการนี้จึงเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์

 

แนวคิดทำนองเดียวกันนี้ ภายหลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการคน ในองค์กรยุคปัจจุบันด้วย

 

องค์กรใดที่พนักงานทำงานเฉื่อยๆ ชาๆ ก็มองหาพนักงานสักคน ที่มีสไตล์การทำงานแบบดุดัน ถึงลูกถึงคน คอยไล่บี้ ตามจี้คนอื่นอยู่ตลอดเวลา มาเป็น “ปลาฉลาม” ไล่เพื่อนๆ

 

จริงอยู่ แม้พนักงาน “ปลาฉลาม” อาจทำให้บรรยากาศโดยรวมเสียไปบ้าง มีคนไม่สบอารมณ์บ้าง มีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ทำให้พนักงานคนอื่นๆ ตื่นตัว คอยวิ่งหนีฉลามด้วยความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น

 

บริษัทของผม ก็มี “ปลาฉลาม” ที่ถูกใส่เอาไว้ด้วยความตั้งใจ แต่ทุกวันก็คอยเฝ้าระวัง ไม่ให้ “ปลาฉลาม” ตัวใหญ่เกินไป จนไล่กินปลาเล็กปลาน้อยจนหมดเกลี้ยง

 

ที่บริษัทคุณล่ะ มี “ปลาฉลาม” บ้างไหม

และใช่คุณรึเปล่า ?

Ready to start your Leadership Journey?