ผู้นำกับปัญหาการขับเคลื่อนวัฒนธรรม AI: สู่การใช้งานจริง
ประเด็นฮอตในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น AI ตอนนี้หากใครไม่พูดถึง AI เหมือนตกเทรนด์
ผู้นำหลายองค์กรก็พยายามศึกษาว่า AI จะเข้ามาช่วยธุรกิจได้อย่างไร โดยอยากให้พนักงานเริ่มตื่นตัว ด้วยการมองหาAI ที่ง่ายและใกล้ตัวที่สุดอย่าง ChatGPT มาแนะนำคนในองค์กร เพื่อให้คนเห็นตัวอย่างการนำ AI มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
จบการอบรมเรื่อง ChatGPT คนต่างตื่นเต้น เห็นถึงประโยชน์ แต่ผ่านมา 6 เดือน กลับพบว่าหลังฝึกอบรมไปคนก็ยังกลับไปใช้วิธีการทำงานแบบเดิม ไม่ได้นำเครื่องมือเหล่านี้มาช่วยในการทำงานในแต่ละวัน
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?
John Kotter กูรูด้านการนำการเปลี่ยนแปลง พูดถึงการเห็นความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงไว้ 3 แบบ
- No sense of urgency ไม่เห็นความจำเป็น ในกรณีนี้คือไม่เห็นความจำเป็นของการนำ ChatGPT มาใช้ ทำวิธีเดิมงานก็สำเร็จ แม้ไม่ได้รู้สึกต่อต้าน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะความเคยชินกับวิธีเดิม ซึ่งประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีสมอง กล่าวคือสมองของมนุษย์เราประกอบด้วยสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง สมองส่วนหน้าเป็นเรื่องเหตุผล สมองส่วนหลังเป็นเรื่องนิสัยอารมณ์ ซึ่งสมองส่วนหลังทรงพลังมากเพราะสิ่งที่ใดที่ทำจนเคยชินเป็นนิสัยจะถูกสั่งการด้วยสมองส่วนหลัง นั่นแปลว่าหากอยากปรับไปสู่พฤติกรรมใหม่ต้องเอาชนะสมองส่วนหลังด้วยการมุ่งมั่นทำจนเป็นนิสัยใหม่ บางตำราบอกว่าต้องทำติดต่อกัน 21 วันจึงจะกลายเป็นนิสัยใหม่ เช่นเดียวกันหากอยากให้ทีมงานที่เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ไปแล้วได้ลองลงมือใช้จริง ก็ต้องส่งเสริมติดตามการใช้งานไปอย่างน้อย 21 วันเพื่อให้มั่นใจว่ามันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยใหม่
- Wrong sense of urgency หลายคนหลังเรียนมาก็ตื่นเต้นอยากใช้ มีคนจำนวนไม่น้อยหลังเรียน ChatGPT จบยอมเสียเงินเพื่ออัพเกรดเป็นเวอร์ชั่นใหม่ เพราะมั่นใจว่าจะใช้ประโยชน์ได้จริงกับการทำงานทุกวัน ยิ่งใช้ยิ่งหลงรัก เพราะไม่บ่น ไม่อู้ ไม่เหนื่อย จะใช้งานกี่โมงกี่ยามก็ไม่ต้องเกรงใจ สุภาพ ไม่มีวันหยุดวันลา และงานทุกชิ้นก็ให้ ChatGPT ช่วยทำให้ โดยปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนระยะหลัง ๆ เพื่อนจับสังเกตได้ว่าชิ้นงานของเขาคือผลงานจาก AI เมื่องานไม่ได้ถูกสังเคราะห์ ทำงานออกมาก็ผิด เมื่อถูกถามถึงเหตุผลก็ตอบไม่ได้ เสียเวลาต้องกลับไปทำใหม่ ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผล
- True sense of urgency คนที่สามารถใช้ ChatGPT เป็นเครื่องมือช่วยทำงานได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ ประเมินได้ว่าจุดไหนควรใช้ ChatGPT ช่วย จุดไหนต้องใช้ศักยภาพของมนุษย์เสริม กล่าวคือ นอกจากมอง AI เป็นเครื่องมือช่วย ยิ่งกว่านั้นการสร้างวัฒนธรรมให้คนใช้เครื่องมือและข้อมูลในการทำงาน ผู้นำทีมที่มี True sense of urgency จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในพฤติกรรมการทำงานในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์ การลงมือปฏิบัติด้วยการพูดถึงข้อมูลที่เข้ามาสนับสนุน โดยข้อมูลนั้นสามารถอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลอย่าง ChatGPT ที่ช่วยหาข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลมหาศาลซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการหาข้อมูล แต่ไม่ลืมเรื่องการใช้ทักษะการสังเคราะห์ของมนุษย์ในการวิเคราะห์ ประมวลเพื่อนำไปสู่กลยุทธ์หรือทางออกที่เหมาะกับสภาพงานและองค์กรของตน ที่ไม่ได้พึ่งพาเพียงคำตอบของ ChatGPT เท่านั้น