คุณเป็นนักอ่านหรือนักฟัง ?
แต่ละคนมีความถนัดที่ต่างกัน บนโลกใบนี้จึงมีคน 2 ประเภท ได้แก่นักอ่านกับนักฟัง บางคนอ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัว แต่พอเพื่อนเล่าให้ฟัง กลับเข้าใจได้ทันที ส่วนบางคนฟังกี่ทีก็ไม่รู้เรื่อง ขอไปอ่านเอง เข้าใจได้มากกว่า
หากคุณเป็น “นักอ่าน” ก็จะสามารถจับใจความและทำความเข้าใจจากการอ่านได้ดี แต่ถ้าคุณเป็น “นักฟัง” ก็จะทำความเข้าใจจากการฟังได้มากกว่า
มีตัวอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ผู้บริหารท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของหน่วยงาน เวลาจะตัดสินใจอะไร ก็มักให้ลูกน้องทำเป็นบันทึกสรุปชึ้แจงขึ้นมา พนักงานก็ทำไป ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าพอใจ
พอท่านเกษียณ ท่านรองเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแทน การทำงานก็ยังคงใช้วิธีการแบบเดิมคือให้ลูกน้องเขียนรายงานสรุปขึ้นมา แต่ปรากฏว่าหัวหน้าคนใหม่ท่านนี้ ไม่ค่อยเข้าใจประเด็นที่ลูกน้องเขียนมา ต้องเรียกมาอธิบายอีกทีทุกครั้งไป กลายเป็นการทำงานซ้ำซ้อนโดยใช่เหตุ
อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่ลูกน้องเขียนไม่รู้เรื่อง แต่เป็นเพราะผู้บริหารท่านเก่าเป็น “นักอ่าน” ทำความเข้าใจได้ดีจากการอ่าน แต่ผู้บริหารท่านใหม่เป็น “นักฟัง” จะเข้าใจได้ดีกว่าถ้ามีคนมาเล่าให้ฟัง
เพราะฉะนั้นในแง่การทำงาน หากคุณรู้ว่าสามารถจับประเด็นหรือทำความเข้าใจได้ดีด้วยวิธีอะไรมากกว่ากันระหว่าง “การอ่าน” กับ “การฟัง” โปรดเลือกใช้วิธีนั้นเป็นแนวทางในการทำงาน จะส่งผลให้เกิดการชนะทั้ง 2 ฝ่าย คือพนักงานก็ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน เขียนเสร็จแล้วต้องไปนำเสนอให้ฟังอีก ในขณะเดียวกันหัวหน้าก็ใช้เวลาน้อยลงในการทำความเข้าใจ เพราะวิธีการนำเสนอตรงกับสไลต์ของตนเอง