ต่างเจนไม่ต่างใจ

เมื่อวานดิฉันได้มีโอกาสพบผู้บริหารหนุ่มไฟแรงเจน Y อายุเพียง 30 กว่า ๆ ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำของโลกประจำประเทศไทยในช่วงเวลาไม่กี่ปี

 

เขาเล่าให้ดิฉันฟังถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ในการนำทีมในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารคนเจน Z ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นน้องใหม่ขององค์กร ความท้าทายที่เผชิญส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 3 มิติ

 

มิติแรกคือ ความคาดหวังต่อองค์กร ต่องาน

มิติที่สองคือ ทัศนคติที่มีต่อการวิธีการและรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน

มิติที่สามคือ รูปแบบการสื่อสารที่แตกต่างกัน

 

แต่ต้องบอกว่าเมื่อฟังแล้ว ในฐานะที่ดิฉันศึกษาเรื่องเจนเนอเรชั่นในองค์กรมากว่า 10 ปี ต้องบอกว่าสิ่งที่ดิฉันได้ฟังจากผู้บริหารหนุ่มไฟแรงเจน Y ท่านนี้ ไม่ต่างอะไรกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่พี่ ๆ เจน X บ่นน้องเจน Y เลย

 

อย่างไรก็ดี ดิฉันพบว่าคนแต่ละเจนแม้จะมีความคาดหวังและทัศนคติที่มีต่อรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มี 3 สิ่งที่คนทุกเจนต่างให้ความสำคัญเหมือนกัน

 

  1. ทุกเจนอยากรู้เหตุผลของการทำ แต่ WHY ที่แต่ละเจนรับมันได้อาจไม่เหมือนกัน สำหรับเจนใหม่รับได้หากรู้ว่าทำไปแล้วตัวเขาจะได้อะไรตอนแทนจากสิ่งที่ทำ ในขณะที่เจนพี่ๆ รับได้กับเหตุผลในการทำแม้มันจะเป็นการทำไปเพียงเพื่ออยากช่วยเหลือ เพื่อแสดงน้ำใจ หรือทำไปเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ควรทำ  
  2. ทุกเจนอยากเป็นคนที่มีคุณค่า พี่ ๆ อยากให้เห็นคุณค่าของประสบการณ์ที่สั่งสมมา นำมาถ่ายทอดให้น้อง ๆ ได้เรียนลัด น้องจะได้ไม่ต้องเสียเวลาผิดซ้ำสอง ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อยากให้เห็นคุณค่าของการนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาและอยากให้เสียงที่เขาพูดถูกได้ยิน
  3. ทุกเจนให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ รุ่นพี่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์เป็นอย่างมากแต่ก็สนใจกับวิธีการและกระบวนการในการทำงานกับคนรอบตัวเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์เช่นกัน ดังนั้นความสามารถในการทำงานกับคนรอบตัว การอ่อนน้อมถ่อมตน ก็เป็นเรื่องที่เจนพี่ได้รับความสนใจไปด้วย ในขณะที่เจนใหม่สนใจกับการค้นคว้าหาวิธีทำงานได้ด้วยตัวเองมากกว่าสนใจว่าคนอื่นจะมองอย่างไร

 

จะเห็นได้ว่าแม้ต่างเจน แต่ก็มีสิ่งที่ทุกเจนให้ความสำคัญไม่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกเจนผนึกความเหมือนที่มีอยู่ได้คือ การสื่อสาร ซึ่งไม่เพียงแต่การพูดแต่คือการฟังด้วย ทุกเจนต้องฟังกันและกัน กล่าวคือฟังอย่างไรเพื่อขจัด bias ว่าคนเจนนี้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ฟังอย่างไรเพื่อเข้าใจอย่างแท้จริง ฟังเพื่อปรับวิธีการโน้มน้าวและการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ดังนั้นการฟังเป็นการลงทุนที่น้อยแต่คุ้มค่าที่สุดที่คนทุกรุ่นควรทำ

 

Ready to start your Leadership Journey?